เส้นทางหนีของ “เสี่ยแป้ง” คือเส้นทางบนเทือกเขาบรรทัด อันมากด้วยความซับซ้อน

นี่ย่อมเป็นเส้นทางเดียวกันกับที่บรรดาพลพรรคแห่ง “คอมมิวนิสต์” ยุคหลัง “เสียงปืนแตก” ใช้เป็นเส้นทางอย่างที่รับรู้ในภายหลังว่า “จรยุทธ์”

หลายคนจึงเกิดจินตนาการ “ไปสู่ภูเขา” ของ สถาพร ศรีสัจจัง

หากใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนภาคใต้ในอดีตก็จะเข้าใจการเกิดขึ้นของ “บ้านส้อง” เพราะเส้นทางอย่างนี้คือเส้นทาง “ไพร่หนีนาย”

ทำไม “เสี่ยแป้ง” จึงเลือก “เส้นทาง” ที่โลดโผนเช่นนี้

มีความจำเป็นต้องศึกษารากฐานของ “เสี่ยแป้ง” ตามความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในภาคใต้

เหตุมูลฐานอันทำให้ “เสี่ยแป้ง” กลายเป็นนักโทษ คือเหตุอันมาจากการค้า “ยาเสพติด” เป็นสถานการณ์ใกล้เคียงกันอย่างยิ่งกับกรณี “มันคือแป้ง”

แทบไม่มีอะไรเหมือนกับ “ก่อนไปสู่ภูเขา” ของ สถาพร ศรีสัจจัง

เพียงแต่เส้นทางเบื้องต้นของ “มันคือแป้ง” อยู่ที่คุกในออสเตรเลีย เพียงแต่เส้นทางเบื้องต้นของ “เสี่ยแป้ง” อยู่ที่เรือนจำแห่งนครศรีธรรมราช

และวันนี้ “เสี่ยแป้ง” เลือกไปกบดานอยู่บน “เทือกเขาบรรทัด”

หากศึกษากระบวนการแหกคุกของ “เสี่ยแป้ง” ก็จะเข้าใจต่อเส้นสนและกลใน

ยิ่งเมื่อเห็นหนทางการก้าวเดินจากกรณี “มันคือแป้ง” จากการต้องโทษในต่างแดนมาบนเส้นทางของ “การเลือกตั้ง” กระทั่งมีบทบาทในทางการเมือง

ก็ย่อมกระสาต่อสายสัมพันธ์การเมืองของ “เสี่ยแป้ง”

อาจมิได้เป็นสายสัมพันธ์ในนาโหนดแห่งพัทลุงเท่านั้น แต่พัทลุงก็มิได้ห่างไปจากสงขลา มิได้ห่างไปจากตรังมิใช่หรือ

หากไม่มากด้วย “คอนเน็กชั่น” ก็ย่อมไม่อาจหนีออกจาก “คุก”

ในที่สุดแล้ว บน “เทือกเขาบรรทัด” ก็ดำรงอยู่เหมือนกับเป็นสถานการณ์ “หนีตาย”

ไม่ว่าจะเป็นในยุค “ไพร่” ไม่ว่าในยุคเผด็จการซึ่งติดอาวุธตั้งแต่หัวถึงตีน กระทั่งแม้แต่ในยุคที่เป็นเส้นทางเลือกของ “ยาเสพติด”

โชคดีที่บรรยากาศแห่ง “อดีต” ดำรงอยู่เสมอเป็นเพียง “ความหลัง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน