การปรากฏนาม น.ส.วทันยา บุนนาค เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก่อให้เกิดสีสัน

มิใช่เพราะสีสันจากความเป็นนักการเมือง “หญิง” หากแต่มีสีสันเพราะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งนอกเหนือไปจากการเสนอตัวของ นายนราพัฒน์ แก้วทอง

ทำให้ “กลิ่นอาย” ในแบบพรรคประชาธิปัตย์เริ่ม “แวววาว” ขึ้น

เพราะหากสามารถตีฝ่าด่านการเมืองที่ขวางทะมื่นอยู่ตลอดสองรายทางมาได้ระดับเป็น 1 ในแคนดิเดตแสดงว่า น.ส.วทันยา บุนนาค ย่อมไม่ธรรมดาอย่างสามัญ

เพียงแต่ว่า “มือ” ที่ผลักรุนอยู่ “ข้างหลัง” เป็นใครเท่านั้น

กรณีของ น.ส.วทันยา บุนนาค ต้องพิจารณาอย่างมีการเปรียบเทียบจึงจะออกรสการเมือง

โดยเริ่มต้นย่อมต้องเปรียบเทียบกับกรณีของ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข มิใช่เพราะเป็นนักการเมือง “หญิง” ผู้มีความโดดเด่นละม้ายเหมือนกัน

หากแต่อยู่ที่ “พรรษา” ในทางการเมือง บทบาทใน “ประชาธิปัตย์”

ต้องยอมรับว่า นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข พรรษามากกว่า และมีบทบาทในยุคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มากกว่าเหนือกว่าอย่างเห็นเด่นชัด

ถามว่าทำไมต้องร้องเพลง “ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า”

ในความใหม่ของ น.ส.วทันยา บุนนาค ก็เช่นเดียวกับของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

นั่นก็คือ มิได้เป็นความใหม่อย่างว่างเปล่า ไร้รากฐาน ตรงกันข้ามหาก นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สร้างรากฐานในทางวิชาการและในสนามกทม.

น.ส.วทันยา บุนนาค ก็โดดเด่นเมื่ออยู่พรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งระยะหลัง ทุกครั้งที่มีโอกาสบนเวทีการเมือง ไม่ว่าเวทีรัฐสภา ไม่ว่าเวทีแสดงความเห็นผ่านสื่อในเครือข่ายก็สร้างประเด็นและความประทับใจ

แทบจะเหนือกว่า นายนราพัฒน์ แก้วทอง ด้วยซ้ำไป

พลันที่เห็นนามของ น.ส.วทันยา บุนนาค ก็เกิดความหวังว่าการครั้งนี้จะเป็นไปโดยราบรื่น

นั่นก็คือ โอกาสที่องค์ประชุมจะครบ โอกาสที่จะมีการลงคะแนนเลือกตั้ง “หัวหน้าพรรค” จะต้องปรากฏเป็นจริงไม่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียฟอร์มซ้ำซาก

ทั้งหมดอยู่ในมือของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน