การเคลื่อนไหวของ 21 สส.สะท้อนความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ออกมาอย่างชัดเจน

ไม่ต่างไปจากการปะทุขึ้นของ “ปฏิกิริยา” อันมาจาก นายเลียง ไชยกาล อันมาจาก นายเทพ โชตินุชิต หลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490

บนเส้นทางเดียวกับ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายสมัคร สุนทรเวช

เพียงแต่การเคลื่อนไหวของ 21 สส.มีความต่างจากกรณีของ นายเลียง ไชยกาล มีความต่างจากกรณีของ นายอุทัย พิมพ์ใจชน

นั่นก็คือ ไม่ต้องการ “ออก” หากแต่เพื่อกระชับ “อำนาจ”

พลันที่มองเห็นบทสรุปของ 21 สส.ที่เสนอต่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็ต้องร้องอ๋อ

นี่คือการเคลื่อนไหวอันสัมพันธ์และแนบแน่นอย่างยิ่งกับการยึดกุมอำนาจของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในห้วงหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566

ส่งผลให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ต้องลาออก








Advertisement

แม้จะไปผนวกตัวรวมพลังกับ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อรุนหลัง น.ส.วทันยา บุนนาค ออกมา

กระนั้น คำตอบก็กระจ่างจาก 21 สส. ณ เบื้องหน้า

คำถามก็คือ การเคลื่อนไหวนี้มีอะไรมากกว่าที่เห็นผ่าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

คำตอบหนึ่งย่อมเห็นได้จากบทบาทที่เอาการเอางานอย่างยิ่งของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ในฐานะ “ว่าที่” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

คำตอบหนึ่ง คือการถอยของ นายนราพัฒน์ แก้วทอง

นี่ย่อมเป็นข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะมาจาก 21 สส. ไม่ว่าจะมาจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ไม่ว่าจะมาจาก นายเดชอิศม์ ขาวทอง

ข้อเสนอนี้วางอยู่เบื้องหน้า นายชวน หลีกภัย

ความแหลมคมอย่างยิ่งอยู่ที่ นายชวน หลีกภัย จะตัดสินเลือกหนทางใดทางการเมือง

เลือกที่จะดับเครื่องชนผ่านบทบาทของ น.ส.วทันยา บุนนาค หรือเลือกที่จะประนีประนอมยอมตามแรงกดดันอย่างต่อเนื่องของ 21 สส.

ทั้งหมดคือการยืนยันอำนาจจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน