กระบวนท่าของพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย ต่อพรรคประชาธิปัตย์ น่าศึกษา

พรรคภูมิใจไทยมอง “สภาพ” อันเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ด้วยความเข้าใจและด้วยความเห็นใจ

เพราะเคยร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ต่อคำถามที่จะดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาร่วม พรรคภูมิใจไทยมากด้วยความระมัดระวัง มิได้ผลีผลาม ยืนยันตัวเลข 314 ว่าล้นเกินอยู่แล้ว

นี่ย่อม “ต่าง” ไปจากท่าทีอันมาจากพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยมีท่าทีทั้งด้วยความ “เห็นใจ” และก็ “สะใจ” ลึกๆ ไปด้วยในขณะเดียวกัน

สะใจเพราะเห็นถึงความพ่ายแพ้อยู่ในลักษณะถอยร่นแทบไม่เป็นกระบวน ไม่ว่าจะเป็นของ นายชวน หลีกภัย ไม่ว่าจะเป็นของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

2 คนนี้ไม่เอาพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว








Advertisement

ขณะเดียวกัน ก็ย่อมดีใจเมื่อเห็นการผงาดขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ประสานกับการเป็นเลขาธิการพรรคของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง

จึงอ่านทะลุว่าความต้องการของพรรคประชาธิปัตย์คืออะไร

ปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกและแยกตัวของพรรคประชาธิปัตย์เป็นผลดีกับรัฐบาล

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วย่อมเป็นผลดีแก่พรรคเพื่อไทย เพราะเท่ากับโอกาสที่จะได้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเสริมเติมความแข็งแกร่งมีสูงอย่างยิ่ง

ที่มีคนนิยามพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็น “อะไหล่” นั้นไม่ผิดหรอก

เพราะในวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาก็มี สส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 16 คนร่วมขานชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย มิใช่หรือ

ทุกอย่างบ่งบอกก่อนวันที่ 9 ธันวาคมด้วยซ้ำ

ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของพรรคภูมิใจไทย เข้าใจได้

เข้าใจได้ในฐานะที่พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาล เข้าใจได้ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับ 1 และเป็นแกนนำรัฐบาล

เมื่อ “สถานะ” ต่างกัน “ท่าที” ก็ย่อมต่างกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน