ไม่ว่าการเลื่อน “สมรสเท่าเทียม” ไม่ว่าการเสนอ “สภาก้าวหน้า” ล้วนเป็น “บทเรียน”
คำถามก็คือ ทำไมพรรคก้าวไกลจึงเสนอเลื่อนร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ให้ได้รับการพิจารณาเร็วขึ้นเป็นวันที่ 13 ธันวาคม
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกรณีของ “สภาก้าวหน้า” เข้ามาอีก
เรื่องเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างเป็น “วาระ” แล้วในหมายของ “สภาผู้แทนราษฎร” เหตุปัจจัยอะไรทำให้พรรคก้าวไกลต้องปรับเปลี่ยนอย่างชนิดกะทันหัน
เป็นการวางแผนอย่างเด่นชัด แต่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ
ความเป็นธรรมชาติในทางการเมืองคือองค์ประกอบสำคัญและทรงความหมาย
เห็นได้จากความเป็นธรรมชาติในแบบของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม นักการเมืองผู้มากด้วยประสบการณ์จากเมืองสุรินทร์
คำที่ติดอยู่สองริมฝีปากคือ คำว่า “ไอ้หนู”
อาจเป็นเพราะเป็นความเคยชินในฐานะซึ่งเป็น “ครู” มาอย่างยาวนาน เลยติดมาด้วยเมื่ออภิปรายอย่างสัมพันธ์กับบทบาทของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ
ความเคยชินนี้จึงดำเนินไปอย่างเป็นไปเอง มิได้เสแสร้ง
คำว่า “ไอ้หนู” สะท้อนความจริงใจอย่างแน่นอนจากปาก นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม
แต่เมื่อได้รับการท้วงติงจาก “ประธาน” ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ คำว่า “ไอ้หนู” ซึ่งดูจะเป็นเรื่องธรรมดาก็แปรเปลี่ยนกลับกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาขึ้นมา
ยืนยันการดำรงอยู่อย่าง “อาวุโส” กว่า ดำรงอยู่อย่าง “เหนือกว่า”
นี่คือความรู้สึก นี่คือสายตาที่ทอดมองไปยังบรรดาเด็กน้อยเหล่านักการเมืองจากพรรคก้าวไกลอันต่อเนื่องมาจากพรรคอนาคตใหม่
ไม่ว่าจะเป็น “ธนาธร” ไม่ว่าจะเป็น “พิธา”
เมื่อผ่านสถานการณ์เลื่อน “สมรสเท่าเทียม” กับกรณี “สภาก้าวหน้า” ก็เริ่ม “ตาสว่าง”
ที่เคยเห็นว่า “อนาคตใหม่” อ่อนหัด ไร้เดียงสา และที่กำลังเห็น “ก้าวไกล” ล้วนเป็นละอ่อนที่สามารถเรียกขานด้วยคำติดปากว่า “ไอ้หนู” นั้น
แท้จริงแล้วเป็น “ไอ้หนู” ในทางการเมืองอย่างที่เข้าใจหรือไม่