ท่าทีพรรครวมไทยสร้างชาติต่อร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” มีความแหลมคม

แหลมคมจากมติล่าสุดที่พร้อมยกมือสนับสนุนร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ให้ผ่านวาระ 1 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 ธันวาคม

ทั้งๆ ที่หากมองรากฐานของพรรครวมไทยสร้างชาติค่อนข้างแปลก

แปลกเพราะว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้านมาต่อเนื่อง

ต้านกระทั่งร่าง “สมรสเท่าเทียม” เดี้ยงแล้วเดี้ยงเล่า

การทำความเข้าใจต่อ “องค์ประกอบ” พรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีความจำเป็น

1 พรรครวมไทยสร้างชาติอันดึงคนจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย มีเป้าหมายในทางการเมืองอย่างไร

ตอบได้เลยว่าเพื่อสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะเดียวกัน 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีท่าทีสกัดขัดขวางและเตะถ่วง “สมรสเท่าเทียม” อย่างจริงจัง

ถามว่าแล้วปัจจัยอะไรทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติแปรเปลี่ยน

คำตอบมิได้สลับซับซ้อน หากแต่แวดล้อมและขึ้นอยู่กับเหตุเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม

เหตุเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม มองได้จาก 2 ปรากฏการณ์อันทรงความหมาย 1 คือการกลับมาของ นายทักษิณ ชินวัตร เห็นได้ที่ดอนเมือง

1 คือการโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ในที่ประชุมรัฐสภา

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การที่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ลุกขึ้นขานชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อพรรคเพื่อไทยเอา “สมรสเท่าเทียม” พรรครวมไทยสร้างชาติก็เอาด้วย

การเมืองไทยจึงดำรงอยู่จากผลสะเทือนเนื่องแต่เหตุการณ์วันที่ 22 สิงหาคมชัดเจน

การร่วมมือระหว่างพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย กับ พรรคเพื่อไทย คือจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

และต่อเนื่องมาถึง “สมรสเท่าเทียม” ในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน