วิเคราะห์การเมือง

ต้องขอบคุณ นายสกลธี ภัททิยกุล ต้องขอบคุณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และต้องขอบคุณ นายจุติ ไกรฤกษ์ ที่ทำให้ภาพทางการเมืองมีความแจ่มชัด

แจ่มชัดในการเป็น “รองผู้ว่าฯกทม.”

หาก นายสกลธี ภัททิยกุล ไม่ยอมรับต่อหน้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายจุติ ไกรฤกษ์ ตอนที่ไปขอลาออกจากสมาชิกภาพแห่งพรรคประชาธิปัตย์

เราคงไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ใน “คสช.” ขอมา

เช่นเดียวกับ หาก นายสกลธี ภัททิยกุลและเพื่อนๆ ไม่เดินเข้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 3 เมษายน เราคงไม่เข้าใจถึงรากฐานความเป็นมาของคำสั่งกทม.ในวันที่ 11 เมษายน

เรื่องนี้หากไม่เริ่มจาก “คสช.” ก็คงไม่เกิดขึ้น

จากเรื่องทั้งหมดนี้ทำให้การแถลงในเชิงตั้งคำถามถึงบางคนในรัฐบาลที่ว่า “อย่าใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นเหมือนพรรคการเมือง” จากพรรคประชาธิปัตย์








Advertisement

มิได้เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยและว่างเปล่า

เพราะไม่เพียงแต่กรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล เมื่อวันที่ 3 จะได้คำตอบในวันที่ 11 เมษายนเท่านั้น หากแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็บอกกับนักข่าว

“เขาคุยกันอยู่”

ที่คุยกันนั้นมิได้เป็นเรื่องประชารัฐ หรือเป็นเรื่องไทยนิยม ยั่งยืน เท่านั้น หากแต่เป็นการคุยในเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วม

ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นใน “ทำเนียบรัฐบาล”ต้องยอมรับว่า ยิ่งโรดแม็ป “การเลือกตั้ง” เดินหน้าด้วยอัตราเร่งมากเพียงใด ความลี้ลับในห้วงเวลาหนึ่งก็มิได้กลายเป็นความลี้ลับอีกต่อไปแล้ว

หากยึดคำพูดของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นบรรทัดฐาน

การหารือกับนักการเมืองเริ่มต้นตั้งแต่ภายหลังการปรับครม.เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 เมื่อ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

จากเดือนสิงหาคม 2558 มายังเดือนเมษายน 2561

ภาพของการต่อสายและดูดคนเข้าร่วมกับ “พรรคคสช.” ก็เริ่มก่อรูปขึ้นเมื่อแกนนำจากกปปส.บางคนเดินเข้าทำเนียบรัฐบาล

จึงมิใช่เป็นเรื่องของวันนี้หากแต่เป็นเรื่องของเมื่อวาน

เด่นชัดอย่างยิ่งว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะไม่ก้าวตามรอยเท้าของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อย่างแน่นอนเพราะเมื่อปี 2549 ถือว่า “เสียของ”

เช่นนี้เองทำให้ลูกชายของนักรัฐประหารเมื่อปี 2549 จำเป็นต้องเดินเข้าทำเนียบรัฐบาลในเดือนเมษายน 2561

สะท้อนลักษณะต่อเนื่องของ “รัฐประหาร” 2 รุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน