การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ของฝ่ายนิติบัญญัตินั้นแทบไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนัก แม้ระบุว่าต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เพราะโดยกลไกของสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีตัวแทนของประชาชน การจะหาส่วนร่วมจากประชาชนเป็นเรื่องยาก

ล่าสุดนี้ เว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพิ่งเปิดสำรวจความคิดเห็นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ฉบับที่…) พ.ศ…. จำนวน 6 คำถาม

มีข้อสังเกตถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่น่าประหลาดใจ นอกจากเป็นจำนวนคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นหลักพัน สูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับร่างพ.ร.บ.ฉบับอื่นที่มีจำนวนเพียงหลักสิบถึงหลักร้อย ลักษณะคล้ายนัดแนะมาเป็นอย่างดี

ร่างกฎหมายพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.นี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้เสนอ หรืออยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาศึกษาก่อนเสนอร่าง

เว็บไซต์เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นได้ในช่วงเวลา 15 วันโดยจะปิดรับฟังวันที่ 18 ส.ค.

คำถามจำนวน 6 ข้อ ถามถึงภาพรวม และการกำหนดคณะกรรมการผู้ตรวจสอบ ผู้คัดเลือก ผู้ประสานงาน ในอำนาจหน้าที่ต่างๆ ปรากฏว่าในบรรดาผู้ที่เข้ามาตอบคำถาม 1,173 คนเห็นด้วยจำนวนมากและเท่ากันเกือบทุกข้อ

ความพร้อมเพรียงดังกล่าวมีลักษณะเด่นชัด และเป็นตัวเลขคงที่ เป็นระเบียบเรียบร้อยชัดเจนและโจ่งแจ้ง








Advertisement

ลักษณะเช่นนี้หาได้ไม่ง่ายนักในสังคมประชาธิปไตย

ไม่ว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นเรื่องบังเอิญ หรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยแท้จริง หรือเป็นเพียงการจัดตั้ง พิธีกรรมทางการเมือง สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเรื่องล้มเหลว

เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งอันเป็นโมฆะเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 ซึ่งมีหลายพื้นที่ประชาชนถูกขัดขวางไม่ให้เข้าไปใช้สิทธิ หลังการรณรงค์ให้ต่อต้านการเลือกตั้ง ก็ยังมีจำนวนผู้ใช้สิทธิกว่า 20 ล้านเสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 45.8 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

แต่รัฐสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่อาจจะจัดกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน