บทบรรณาธิการ : รอสัญชาติ
กรณี สมาชิกทีมหมูป่า 4 คน ที่จังหวัดเชียงราย และ ปู่คออี้ นายโคอิ มีมิ ที่จังหวัดเพชรบุรี ได้รับสัญชาติไทยไปเมื่อเร็วๆ นี้เป็นเรื่องที่ญาติมิตรและผู้คนในสังคมต่างยินดีด้วย แต่ก็ทำให้เกิดคำถามเรื่องการขอสัญชาติขึ้น
แม้ทางการตอบเรื่องนี้ได้ทันทีว่าทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่ประเด็นที่ไม่ชัดเจนคือระยะเวลาในการพิจารณา
กรณีปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจาน เพิ่งได้สัญชาติไทย หลังพยายามขอมานานนับสิบปี กว่าจะได้ก็อายุ 107 ปีแล้ว
ขณะที่เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่ารวม 4 คนได้รับสัญชาติไทย ภายหลังจากที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกจากเหตุการณ์ติดอยู่ในถ้ำหลวงเมื่อเดือนมิ.ย.-ก.ค.ปีนี้
ตัวเลขของทางการระบุว่า ประเทศไทยมีบุคคลไร้สัญชาติกว่า 480,000 คน หากต้องการยื่นขอสัญชาติไทย จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย แต่ไม่ระบุชัดว่าจะต้องรอนานเท่าใด
ทั้งที่การได้รับสัญชาติมีความสำคัญมาก เพราะหมายถึงการมีตัวตนและได้รับสิทธิทางกฎหมาย เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ทั่วประเทศ ทำงาน จดทะเบียนสมรส และเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้
กรณีของ ด.ช.หม่อง ทองดี ผู้มีพ่อแม่เป็นชาวต่างด้าว แต่ตนเองเกิดในไทย เคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศเมื่อชนะเลิศการแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษที่ญี่ปุ่น ปี 2552
ปัจจุบันอายุ 21 ปี เป็นตัวอย่างของการรอความหวังที่ยาวนาน
ขณะนี้ หม่อง ทองดี ยังคงพยายามขอสัญชาติ ไทยอยู่ หลังมีตัวแทนรัฐบาลและภาคราชการให้ความหวัง แต่ต้องรอคอยมา 9 ปีแล้ว
เจ้าหน้าที่ราชการอธิบายว่า นายหม่องจะได้รับสัญชาติไทยเมื่อจบปริญญาตรี และมีหนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์ให้ประเทศจากหน่วยงานราชการ
คำอธิบายที่ชัดเจนมีขึ้นหลังจากผู้คนตั้งคำถามและเปรียบเทียบกับกรณีสมาชิกทีมหมูป่าจนเป็นประเด็นข่าวขึ้นมา แต่อีกหลายๆ กรณียังไม่ได้มีผู้ยินดีจะให้คำตอบหรือช่วยหาทางออกให้
การปล่อยให้คนเฝ้ารอโดยไม่มีกำหนดเวลานั้น ย่อมไม่ใช่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ