เมื่อวันที่ 19 ก.ย. เป็นวันครบรอบ 12 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งรักษาการก่อนการเลือกตั้งที่กำหนดในเดือนต.ค.2549

มีความเห็นจากอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และนักการเมือง ดังนี้

1.อลงกรณ์ พลบุตร

อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศในรอบ 86 ปีของระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตยต้องสิ้นสุดลง ส่วนการรัฐประหารครั้งล่าสุดจนถึงวันนี้เป็นเวลา 4 ปีและกำลังจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า

โดยหวังว่าจะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย แต่ไม่มีหลัก ประกันใดๆว่าจะไม่มีการยึดอำนาจอีก เว้นแต่จะปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจังแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ 3 ประการคือ 1.การคอร์รัปชั่น 2.ความแตกแยก และ 3.การเลือกตั้งที่ทุจริต

การแก้ปัญหาต้นเหตุ 3 ประการนั้นต้องใช้กฎเหล็ก 5 ข้อ เป็นแนวทางหลักของทุกภาคส่วน ได้แก่ 1.ไม่ทุจริตการเลือกตั้งทุก รูปแบบ 2.แข่งขันทางการเมืองด้วยนโยบายและความสามารถ ไม่โจมตีใส่ร้ายสร้างความเกลียดชัง แบ่งแยกประชาชนเป็นฝักฝ่าย

3.ไม่รับทุนสามานย์ทางการเมือง 4.ยึดมั่นระบบรัฐสภา และ 5.ไม่คอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง








Advertisement

กฎเหล็ก 5 ข้อคือหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ถือเป็นกฎหลักไม่ใช่กฎลอยๆ ถึงเวลาที่ต้องกล้าและเด็ดเดี่ยว เริ่มต้นตั้งหลักสร้างประชาธิปไตยยุคใหม่เป็นจุดเปลี่ยนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

โดยเฉพาะประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต้องเลือกคนดีและส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมืองจึงจะได้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่ดีมีคุณธรรมดูแลประเทศ

ไม่เช่นนั้นประเทศยังคงเวียนว่ายตายเกิดในวงจรอุบาทว์ และคงต้องมีวันรำลึกการรัฐประหารต่อไปในวันข้างหน้าอีกเช่นวันนี้

2.ราเมศ รัตนะเชวง

รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมาย

พรรคประชาธิปัตย์

ผมเป็นอีกคนที่ไม่ชอบแนวทางการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบจากการยึดอำนาจ และเชื่อว่าคนไทยไม่เคยลืมพฤติกรรมอันเป็นที่มาแห่งการยึดอำนาจเช่นกัน ทั้งการใช้ระบบเผด็จการเสียงข้างมากในสภา ข่มเหงเสียงข้างน้อย การทุจริตคอร์รัปชั่น เอื้อประโยชน์ต่อ พวกพ้อง การเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกประชาชน การทำลายความน่าเชื่อถือของอำนาจฝ่ายตุลาการและกระบวนการยุติธรรม รวมถึงพฤติกรรมการไม่เคารพกฎหมาย และใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรมเล่นพรรคเล่นพวก เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้คนที่ยึดอำนาจมาต้องอธิบายเพราะรู้ดีที่สุด

ส่วนการรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ผมเคยเตือนเสมอว่า คสช.ต้องอธิบายทำความเข้าใจต่อสังคม ไม่เช่นนั้นความจริงจะถูกนำไปบิดเบือน จากคนที่เป็นจำเลย จะกลับกลายมาเป็นโจทก์ ซึ่งคสช.ไม่เคยอธิบายสิ่งเหล่านี้ต่อสังคมอย่างจริงจัง อาจเพราะเกรงใจหรือมีเหตุผลอย่างอื่น ไม่มีใครทราบได้

แต่ต่อจากนี้ไปประเด็นรัฐประหาร ที่นายทักษิณ ชินวัตร ตั้งหลักไว้จะมีไพร่พล ลูกหาบของระบบทักษิณออกมาเปิดเกมรบอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อ คสช.ไม่คิดจะอธิบายว่าก่อนการยึดอำนาจบ้านเมืองเป็นอย่างไร วันข้างหน้าจะเข้าสู่การบิดเบือนเต็มรูปแบบ และ คงไม่ต้องคร่ำครวญว่า ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

คสช.สอบตกในเรื่องนี้จริงๆ นายกฯอธิบายได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องนี้

3.จาตุรนต์ ฉายแสง

แกนนำพรรคเพื่อไทย

การทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ไม่ได้เกิดขึ้นแล้วมีผลสั้นๆ แล้วจบไป แต่มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผลของมันได้สร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ที่หาคนทำอะไรที่ผิดกฎหมายได้อย่างไม่จำกัด แล้วสมคบร่วมมือกับผู้ที่มีกำลังทางทหารสามารถยึดอำนาจ

และเมื่อยึดอำนาจแล้วก็เขียนกติกาตามใจชอบที่จะป้องกัน ไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยถูกเลือกมาเป็นรัฐบาล แต่ปี 2549 ยังทำไม่สำเร็จ เพราะประชาชนยังไม่เอาด้วย

ทำให้ต่อมาต้องหาวิธีล้มรัฐบาลด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งกลับมาใช้วิธีเดิมคือ การเคลื่อนไหวที่ทำผิดกฎหมายได้อย่างไม่จำกัด แล้วสมคบร่วมมือกันหลายฝ่ายโดยเฉพาะกับกองทัพแล้วยึดอำนาจ

มาคราวนี้ก็ได้พยายามเขียนรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง โดยเขียนให้เข้มข้นกว่าเดิมว่าผู้ที่ประชาชนเลือกจะไม่ได้เป็นรัฐบาล เขาสรุปบทเรียนมากขึ้น โดยการพยายามวางระบบที่ผู้ยึดอำนาจสามารถปกครองประเทศได้อย่างยาวนาน วางแนวความคิดในรูปของยุทธศาสตร์ไว้ เพื่อให้ผู้ยึดอำนาจสามารถสืบทอดอำนาจต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเป็นความต่อเนื่องของการรัฐประหาร ปี 2549 ทำให้เราเห็นว่าการยึดอำนาจในแต่ละครั้งส่งผลเสีย ต่อประเทศมากกว่าที่เคยคิดกันมา

ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือการไม่เป็นประชาธิปไตย และการที่ผู้มีอำนาจสมคบกันยึดอำนาจ แล้ววางระบบเพื่อปกครองประเทศยาวนาน ซึ่งทำให้ประเทศล้าหลังและเสียหายไปอีกยาวนาน

ถ้าเราไม่เห็นปัญหานี้แล้วพยายามไปแก้ปัญหาอื่น ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวพ้นจากปัญหาทั้งหลายได้

4.อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด

รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย

12 ปีที่ผ่านมามีการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนไปถึง 2 ครั้ง เหตุผลในการทำรัฐประหาร อ้างว่าเพื่อสร้างความรักความสามัคคี สร้างความชอบธรรมให้กับประชาชนทุกฝ่าย แต่ 12 ปีผ่านไปความแตกแยกยังคงอยู่หรือไม่ ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นหรือไม่

ถ้าการทำรัฐประหารดีจริง ป่านนี้ประเทศ ไทยคงกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ถ้าคนอยู่ดีกินดีขึ้น ทำไมถึงมีคนจนมากถึง 11.4 ล้านคน

ประเทศไทยจะไปถึงไหนแล้วถ้าไม่มีการยึดอำนาจ ทั้งที่ในอดีตประเทศไทยเคยเป็นผู้นำในภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพในภูมิภาค

แต่ภายหลังการรัฐประหารปี 2549 ความเป็นผู้นำในด้านต่างๆ ของประเทศไทยในอาเซียนลดน้อยถอยลง จนหลายด้านอยู่ในอันดับรั้งท้าย

การพัฒนาประชาธิปไตยก็หยุดชะงักลง ส่งผลกระทบถึงการพัฒนาประเทศ ประชาชนและประเทศชาติเสียโอกาส หรือไม่

ถ้าเรายังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะอยู่ดีกินดีมากกว่านี้หรือไม่ ประเทศจะได้รับความเชื่อมั่นมากกว่านี้ถ้าไม่มีการยึดอำนาจหรือไม่

ขนาดประกาศว่าจะจัดเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยยังพุ่งขึ้นไปถึง 44 จุด แสดงว่าคนโหยหาประชาธิปไตยที่เข้าถึงได้ ประชาชนต้องการการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตและความเป็นไปของบ้านเมือง

มองย้อนกลับไปถ้าประเทศไทยไม่มีการยึดอำนาจ ป่านนี้คงมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครบทั้งระบบ มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกับภูมิภาค มีการพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษา มีการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ไม่มีความแตกแยก ไม่มีการชัตดาวน์ประเทศ ชัตดาวน์ระบบราชการ

ประเทศอาจจะก้าวไกลไปเกินกว่ายุคไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นไทยแลนด์ 5.0 เข้าสู่ยุค 5 จี ไปแล้วก็ได้

ดังนั้น ต้องหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหาร ขึ้นอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน