บทบาทรัฐบาลหลังมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

ประเด็นร้อน : วิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของรัฐบาล หลังพ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศใช้ และกกต.กำหนดวันเลือก 24 มี.ค.

รัฐบาลควรวางบทบาทของตัวเองอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

โดยเฉพาะเมื่อ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ และรับรู้กันดีพรรคนี้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

เมื่อประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง และกกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. รัฐบาลคสช.ก็ควรตระหนักถึงสถานะและบทบาทของตนเองในระหว่างจัดให้มีการเลือกตั้ง แบบที่นานาอารยประเทศเขาทำกันคือ ต้องวางตัวในลักษณะรัฐบาลรักษาการ ไม่ควรทำหน้าที่เหมือนในสภาวะแบบปกติ

แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมายจะอ้างการกระทำยืนยันความมีอำนาจเต็มของรัฐบาลคสช.ดังเดิม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่หลายครั้ง แต่นั่นไม่ใช่กฎหมายสูงสุด ที่ถูกจัดทำผ่านสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนพึงมี แต่ถูกจัดทำภายใต้คณะรัฐประหารที่มาจากการยึดอำนาจ รัฐบาลคสช.จึงต้องวางตัวในบทบาทของรัฐบาลรักษาการหรือยุติการปฏิบัติหน้าที่

โดยเฉพาะ 4 รัฐมนตรีที่เข้าร่วมสังกัดพรรคการเมืองที่จะลงไปแข่งขันก็ควรลาออกทันที เช่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ หากตอบรับการถูกเสนอชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองก็ต้องลาออกด้วย มิเช่นนั้นคำถามและข้อครหาเรื่องการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบต่อการเลือกตั้งที่เอื้อให้นายกฯคนปัจจุบันเป็นนายกฯคนต่อไปจะยิ่งมีมากขึ้น

ภารกิจรัฐบาลคสช.นับจากนี้ควรจำกัดเหลือแค่งานรูทีนรายวัน ลงนามเอกสารเท่าที่จำเป็น คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง แล้วควรหยุดการทำภารกิจในลักษณะของรัฐบาลสัญจร หรือผลักดันนโยบายสำคัญ เพราะจะทำให้ถูกตั้งถามในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อน จะแยกกันไม่ออกว่าทำในนามรัฐบาลหรือพรรคที่มี 4 รัฐมนตรีไปร่วมสังกัด

ถ้าสถานการณ์ยังเดินต่อไปเช่นนี้ 4 รัฐมนตรีไม่ลาออก รัฐบาลคสช.ยังเดินหน้าลงพื้นที่ผ่านครม.สัญจร อนุมัตินโยบายโครงการขนาดใหญ่ เพื่อหวังเป็นแต้มต่อให้มีส.ส.ในพรรคที่สนับสนุนเข้าสภามากที่สุด ก็จะยิ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรม ส่งผลต่อการยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมาอีกด้วย

ระหว่างนี้จึงเป็นหน้าที่ของกกต.กำกับดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ให้ทุกพรรคได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ภาคประชาชนเองก็ควรต้องช่วยกันกดดันรัฐบาลคสช. และ 4 รมต. ให้หยุดใช้อำนาจเต็มระหว่างการเลือกตั้ง โดยต้องยกระดับข้อเรียกร้องอยากเลือกตั้ง ให้ไปถึงการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ หลังทราบผลการเลือกตั้งต่อไป

สนช.ที่ประกาศจะยุติการพิจารณากฎหมายก่อนเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 1 สัปดาห์นั้นก็ควรยุติทันทีตั้งแต่วันนี้ ที่น่าห่วงคือกฎหมายเหล่านี้จะยิ่งไปเพิ่มอำนาจให้ข้าราชการเป็นใหญ่ เป็นภาระให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแก้ไข

ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตกกต.

ตามกฎหมายและมารยาทรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านมาเมื่อมีพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วรัฐบาลจะถือว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ จะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ใช้งบประมาณจากปกติไม่ได้ บางกรณีอาจขอความเห็นชอบจากทางกกต.ก่อน

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจรัฐบาลยังอยู่ปกติไม่ใช่เป็นรัฐบาลรักษาการที่สามารถดำเนินการอะไรก็ได้ภายในกรอบของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แม้แต่ว่ารัฐมนตรีที่จะไปสังกัดพรรคหรือลงเลือกตั้งก็ยังไม่ต้องลาออก เว้นแต่โดยมารยาทเท่านั้น ทุกอย่างเขาเขียนไฟเขียวไว้แล้ว

ดังนั้น จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อ คือเขียนรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลยังใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เป็นนายกฯและรัฐมนตรีต่อไป ยังมีกรณีที่ให้อำนาจคสช.ยังอยู่ สามารถใช้มาตรา 44 ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายได้

รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้เรื่องใช้งบไม่สามารถใช้งบพิเศษได้ ส่วนงบประมาณสามัญทั่วไปที่หมายถึงการจัดสรรให้กระทรวงไปแล้วก็ใช้ได้ตามปกติ แต่รัฐบาลจะไม่สามารถออกมติว่ามีกรณีฉุกเฉินแล้วเอางบกลางไปใช้ได้

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะใช้งบได้ตามปกติเพราะเป็นรัฐบาลปกติ จะมีการเลือกตั้งก็เลือกไป แต่รัฐบาลก็ยังจะดำเนินนโยบายตามปกติ ฉะนั้นอำนาจของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญปี2560 จึงมีมากกว่ารัฐธรรมนูญที่เคยมีมา

การจะลงพื้นที่ประชุมครม.สัญจรก็ทำได้ เขาก็คงทำหน้าที่ไปถ้าไม่มองเรื่องมารยาททางการเมือง อย่างไรก็ตามเมื่อประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้วก็คงจับตาดูว่าภายในสัปดาห์หน้า หรือเดือนหน้าจะมีโปรแกรมเดินทางประชุมครม.สัญจรที่ไหนหรือไม่ ถ้าจะทำก็คงอ้างเหตุผลอะไรก็ได้เท่านั้นเอง

ถ้าลงพื้นที่ไปพูดถึงเรื่องโครงการประชารัฐ หรือพูดหมิ่นเหม่ หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคที่จะสนับสนุน หรือเป็นการหาเสียงทั้งทางตรงทางอ้อมเมื่อมีคนร้องเรียนก็ต้องรับผิดชอบ เรื่องก็จะบานปลายไปอีก แต่ถ้ามีฝ่ายกฎหมายที่รู้และคอยกำกับดูแลเรื่องนี้ก็คงไม่ผิดอะไรมากหนัก หรือเรียกว่าเขาต้องระวังตัว

พรรคอื่นๆ อาจเสียเปรียบเพราะถูกจำกัดเรื่องอำนาจรัฐ ใช้กำลังคนของรัฐ งบประมาณรัฐ รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายเขาก็จะอ้างเรื่องความเหมาะสม

บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลช่วงนี้คงต้องดูมารยาทและจริยธรรม เชื่อว่าพรรคการเมืองหรือองค์กรอิสระคงจับตาดูอยู่ รวมทั้งการดำเนินการของข้าราชการ

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.อุบลราชธานี

แม้ว่ามาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ครม.ปัจจุบันสามารถบริหารราชการแผ่นดินไปจนกว่าจะมีครม.ใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้น ทำให้บทบาทการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันยังปฏิบัติภารกิจได้เช่นเดิม แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต้องระมัดระวังในการวางสถานะของตัวเอง ที่อาจมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใด พรรคหนึ่ง ที่มีแนวโน้มสนับสนุนบุคคลในรัฐบาลปัจจุบัน

ยกตัวอย่าง 4 รัฐมนตรี ที่มีแนวโน้มจะลงสมัครส.ส. และสนับสนุนคนในรัฐบาล เห็นได้จากการแถลงนโยบายที่สานต่อ และความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันให้มีความต่อเนื่อง

ขณะนี้เข้าสู่โหมดการประกาศใช้พ.ร.ฎ.เลือกตั้งส.ส.แล้ว และยังมีกรอบกฎหมายอื่นๆที่บังคับใช้แล้ว รัฐบาลจึงควรต้องระมัดระวังการวางสถานะของตัวเองให้มาก โดยเฉพาะการสวมหมวก 2 ใบ ทั้งเป็นรัฐบาลปัจจุบัน และบางคนกำลังจะเป็นผู้เล่นในสนามการเลือกตั้งก็ต้องวางตัวให้เหมาะ เชื่อว่าจะต้องถูกจับจ้องจากคนข้างนอกแน่นอน

ขณะที่การใช้งบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาลควรต้องระมัดระวัง หากเป็นงบประมาณประจำปีที่ต้องใช้ตามกระทรวงต่างๆ ซึ่งได้จัดสรรไว้แล้วคงไม่มีปัญหา แต่อะไรที่เป็นงบประมาณพิเศษ เป็นงบอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นเร่งด่วนก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้ เรื่องการใช้งบประมาณก็เป็นส่วนสำคัญที่ผู้คนจะจับตาดูว่าต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคใด

ส่วนการลงพื้นที่พบปะประชาชนในรูปแบบครม.สัญจร ถือเป็นภารกิจของรัฐบาลที่ทำได้ตามปกติ ซึ่งรัฐบาลคงได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะลงพื้นที่ใดบ้าง แต่รูปแบบการพบปะประชาชนคงต้องระวัง โดยเฉพาะ 4 รัฐมนตรีอีกเช่นเดิม ที่ต้องระมัดระวังในการแสดงบทบาท

เช่นเดียวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หากไม่ใช่การโยกย้ายประจำปีหรือมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ ไม่ควรมีเหตุให้ต้องโยกย้ายช่วงนี้ เว้นแต่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลนั้นไม่มีความเหมาะสม หรือมีพฤติการณ์ให้โยกย้ายได้

เพราะขณะนี้ข้าราชการทุกฝ่ายถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ครู ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงยังไม่ควรโยกย้ายในช่วงนี้

ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลยังทำงานตามปกติได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงความเหมาะสมว่าอย่าเอนเอียงให้คุณให้โทษแก่พรรคใด

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

หากถามถึงบทบาทของรัฐบาลที่เหมาะสมหลังมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง และกกต.ประกาศวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค.นั้น คิดว่าปล่อยเขาไปเถอะ ประชาชนตัดสินเองว่าเป็นการเอาเปรียบหรือไม่เอาเปรียบ พูดไปก็เหมือนกับเป็นคนหาเรื่องเพราะเห็นอยู่ตำตา

ฝ่ายหนึ่งบอกอย่าตัดสินใจอะไรที่ทำให้เกิดความน่ารำคาญทางการเมือง อีกฝ่ายก็มองแต่ความคิดของตัวเองว่าตัวเองพูดถูกกฎหมาย แต่จะถูกจริยธรรม ถูกเวลาหรือไม่ประชาชนตัดสินได้ เพราะคนในรัฐบาลก็อายุขนาดนี้แล้ว คงไม่ต้องไปสอนอะไรแล้ว

ส่วนการใช้งบประมาณช่วงพ.ร.ฎ.เลือกตั้งที่ผ่านมาก็เคยมีตัวอย่างให้เห็น หากอยากเอาเปรียบคนอื่นก็ตามใจเพราะมีคนคอยดูอยู่ หากทำไม่ถูกในที่สุดก็มีประชาชนเป็นผู้ตัดสินอยู่ดี ถ้ายืนยันว่าทำถูกกฎหมายก็ให้ประชาชนตัดสินว่าในการเป็นนักการเมือง ต้องคู่กับคุณธรรม อะไรถูก อะไรผิด

เมื่อกกต.ประกาศวันเลือกตั้งแล้วรัฐบาลยังจะมีการประชุมครม.สัญจรลงพื้นที่อีก ก็ปล่อยเขาไป ประชาชนส่วนใหญ่จะรู้ว่าเอาเปรียบหรือไม่ และเคยมีตัวอย่างมาแล้วว่าห้ามจัดประชุมครม.สัญจร แต่รัฐบาลนี้เขายืนยันว่าเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ คนที่ออกมาโวยวายก็เท่ากับฟ้องสังคมแล้ว

สังคมก็มีการสั่งสอนตอนไปเลือกตั้ง ถ้าประชาชนเห็นว่าเอาเปรียบก็จะเสื่อมความนิยมไปเอง ประชาชนก็ไม่เลือก แต่ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องปกติเขาก็เทคะแนนให้ได้

รัฐบาลนี้ก็ไม่ปกติอยู่แล้ว เป็นรัฐบาลที่มาจากไหนก็ไม่รู้ เคยมีรัฐบาลไหนที่มีอำนาจมาตรา 44 ในขณะเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติอยู่แล้ว

ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายก็มีคนออกมาโวยวายว่าเอาเปรียบ ทำผิดจริยธรรมอีกแล้ว ถ้าเขาไม่กลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องปล่อยเขาไป เพราะเขาคิดว่าถูกกฎหมาย โวยวายไปก็เสียงแหบเปล่าๆ ปล่อยให้คนตัดสินเองบ้าง

บทบาทรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พูดชัดเจนทุกอย่าง ว่ารัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ตามปกติในฐานะผู้มีอำนาจเต็ม เพียงแต่ต้องระมัดระวังไม่ไปเอื้อให้พรรคใดพรรคหนึ่ง นายกฯและ 4 รัฐมนตรีเขารู้ทุกอย่างว่าเป็นอย่างไร เป็นคนสาธารณะรู้เองว่าทำถูกหรือทำผิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน