เลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับ

บทบรรณาธิการ

เลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับ : บทบรรณาธิการ – กรณีศึกษาเรื่องการเลือกตั้งของต่างประเทศจากสถานการณ์ปัจจุบัน มีข้อสังเกตหนึ่งว่า หากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยยุติธรรมและโปร่งใสแล้ว จะเกิดปัญหายืดเยื้อกับประเทศตามมา

แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา กลับก่อปัญหาซ้อนขึ้นใหม่

เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่กำลังเกิดวิกฤตมีผู้นำซ้อนขึ้นมาสองคน คนแรกเป็นรัฐบาลเดิมที่ชนะการเลือกตั้งในปีก่อน แต่การเลือกตั้งดังกล่าวถูกครหาอย่างกว้างขวางว่าไม่โปร่งใสและไม่ยุติธรรม ทำให้มีผู้แทนประชาชนฝ่ายค้านประกาศตัวเป็นผู้นำแทนชั่วคราวเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่

เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลนานาประเทศมีท่าทีและความเห็นแยกเป็นสองฝ่าย ในการสนับสนุนผู้นำคนแรกกับผู้นำคนที่สอง ทั้งมีข้อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่

สถานการณ์ดังกล่าวบ่งบอกว่าแม้การเลือกตั้งจะทำไปตามกรอบของผู้ควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย พร้อมอ้างว่าทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่หากแสดงออกถึงความไม่โปร่งใส และไม่ยุติธรรม ก็ยากจะเป็นที่ยอมรับ

กรณีของกัมพูชา เพื่อนบ้านของไทย แม้พรรครัฐบาลจะกวาดชัยชนะได้เด็ดขาด จนเป็นรัฐสภาพรรคเดียว แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาติตะวันตก จนเป็นปัญหายืดเยื้อ และอาจกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้าที่เคยได้รับสิทธิพิเศษ

แน่นอนว่าสถานการณ์ของไทยเป็นเรื่องของไทย เป็นเหตุการณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนประเทศอื่น

แต่เมื่อมีตัวอย่างปัญหาให้เห็นแล้ว จึงยิ่งต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับทั้งประชาชนในประเทศ และทั้งกับนานาประเทศ

หลังประเทศไทยประกาศพ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง และกำหนดวันที่ 24 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้ง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลสหภาพยุโรป ต่างออกแถลงการณ์ยินดีด้วยที่ไทยจะเข้าสู่เส้นทางฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างจริงจัง

นอกจากยินดีแล้ว ยังมีข้อความแนบมาด้วยว่า คาดหวังจะได้เห็นผลลัพธ์ที่สะท้อนถึงการอภิปรายอย่างเสรี และความต้องการของประชาชน

อีกทั้งการเลือกตั้งอย่างเปิดกว้าง เสรี และมีความน่าเชื่อถือ รวมถึงให้ความเท่าเทียมกับทุกพรรคการเมือง ตามด้วยการจัดตั้งคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง

ข้อเรียกร้องนี้ชัดเจนแล้ว การปฏิบัติให้บรรลุผลจึงควรชัดเจนด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน