พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความสำคัญ (ตอนแรก) : รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความสำคัญ (ตอนแรก)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความสำคัญ (ตอนแรก) – เรียนถามขอเป็นความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สัญญา

ตอบ สัญญา

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เผยแพร่ความรู้ว่าด้วยคำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญที่แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ในพระราชพงศาวดารไม่ได้กล่าวว่ามีลักษณะอย่างไร ในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ใน พ.ศ.2325 โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอย่างสังเขปเรียกว่า “พระราชพิธีปราบดาภิเษก”

ต่อมาโปรดให้ข้าราชการที่รับราชการมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสอบสวนแบบแผนการพระราชพิธีครั้งกรุงศรีอยุธยาได้สมบูรณ์แล้ว จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2328 เรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก”

ความสำคัญของพระราชพิธีอยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ (อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด) เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในทิศทั้ง 8 และได้ยึดถือพระราชพิธีครั้งนั้นเป็นแบบแผนต่อมา ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เรียกพระราชพิธีราชาภิเษกนี้ว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

หนังสือจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-รา-มา-ทิ-บอ-ดี-สี-สิน-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-วุด พระ-มง-กุด-เกล้า-เจ้า-หยู่-หัว) กล่าวถึงความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ว่า

“…ถือเป็นตำรามาแต่โบราณว่า พระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะทรงรับรัชทายาท เมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียงณที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า ‘ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน’ เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัย กับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (เครื่อง-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน) จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้วจึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราช มณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหา กระษัตริย์แต่นั้นไป…”

การออกพระนามพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นธรรมเนียมว่าพระนามของพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษกนั้น จะออกพระนามเดิมและต่อท้ายด้วยคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พบหลักฐานในหนังสือแสดงกิจจานุกิจของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสวรรคตแล้ว ได้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวร” ทันที มิได้รอไว้จนทรงรับบรมราชาภิเษก

ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์จึงทรงเห็นพร้อมกันให้เปลี่ยนคำออกพระนามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นจาก “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2453

และถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันว่าให้ออกพระนามพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้รับบรมราชาภิเษกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ฉบับพรุ่งนี้ (26 ก.พ.) อ่านความรู้จากข้อเขียนว่าด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทางราชสำนักและพระราชพิธี

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน