สถานการณ์การเข้าไป “จัดการ” กับ “ธรรมกาย” มีลักษณะเคลื่อน ไหวอย่างไม่ขาดสาย

สัมผัสได้จากท่าทีใน”การตอบโต้”

บทบาทของ “โฆษก” มีความสำคัญเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะมอง จากด้านของ “ดีเอสไอ” ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “ธรรมกาย”

ธรรมกายอาจมี “หลวงพี่สนิทวงศ์” ยืนปักหลัก

ตรงกันข้าม ทางด้านของ “ดีเอสไอ” ไม่เพียงแต่มี “โฆษก”หากแต่ยังมี “รองโฆษก”

ยิ่งกว่านั้น ยังได้รับการหนุนช่วยอย่างคึกคัก

เห็นได้จากบทบาทของหลวงพี่จาก”วัดอ้อน้อย” ประสานเข้ากับ “หลวงพี่มโน” รวมถึง นายไพบูลย์ นิติตะวัน

ขณะเดียวกัน บทบาททางด้าน”ตำรวจ” กลับเงียบๆหงอยๆ

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อาจออกมาเป็นครั้งคราว พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒน์เจริญ อาจร่วมโต๊ะแถลงข่าว แต่ก็พูดน้อยอย่างยิ่ง

อดออมถนอมปาก อดออมถนอมคำ

หากหวนกลับไปเปรียบเทียบกับสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนและเมื่อเดือนธันวาคม 2559

“สภาพ” มิได้เป็นอย่างในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

แม้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จะเข้าร่วมประชุมในฐานะผบ.ตร. แต่ก็ไม่ได้ยืนอยู่ “แถวหน้า”

กลับดันหลัง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง เต็มที่

นายตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทโดยเฉพาะ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 ก็ดำเนินไปอย่าง “โลว์ โปรไฟล์”

อาจรายงานตรงไปยัง “ผบ.ตร.” จากนั้น ผบ.ตร.ก็รายงานตรงไปยังรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับงานด้าน “ความมั่นคง”

แต่ก็เป็นไปตาม “แบบธรรมเนียม”

ตำรวจทุกนายต่างยึดถือตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 อย่างมั่นคง

“อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ” คือ “ผู้บัญชาการ”

ยิ่งเมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 12/2560 ออกมาตอกย้ำให้กับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560

ย้าย นายพนม ศรศิลป์ ออกไป แล้วแต่งตั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ทุกคนยิ่งต้องร้อง “ฮ้อ”

เพราะ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ มาจากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ

เห็นชัดว่า “ไผเป็นไผ”

กระทรวงยุติธรรมต่างหากที่เป็นเจ้าของ”ไซท์งาน” และคนคุมเกมอย่างทั้จริง คือ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง

ส่วนอื่นๆก็ต้อง”โลว์ โปรไฟล์”เป็นธรรมดา

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน