รุนแรงในโรงพยาบาล

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

รุนแรงในโรงพยาบาล : เหตุการณ์ความรุนแรงช่วงสงกรานต์ที่กลุ่ม วัยรุ่นยกพวกทำร้ายกันหน้าห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลบางสะพานน้อย อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ว่าไม่ควร เกิดขึ้น

แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดมาแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บริเวณหน้าห้องฉุกเฉินเช่นกัน

รวมถึงเหตุการณ์ไล่ตีกันหน้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลห้วยแถลง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 10 เม.. ปีนี้

ทั้งสองสามเหตุการณ์นี้และอีกหลายเหตุการณ์ในปี 2561 กำลังเป็นคำถามว่า จะมีอีกกี่โรงพยาบาลที่ต้องเผชิญเรื่องที่ ไม่ควรเกิดเช่นนี้

กรณีวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวก่อความรุนแรง ในโรงพยาบาลดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากการปะทะกันในสถานที่อื่นๆ และลามต่อมายังโรงพยาบาล ซึ่งผู้บาดเจ็บถูกส่งตัวมา

เหตุที่บางสะพานน้อยสะเทือนใจกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากผู้ก่อเหตุคว้าเอาพระพุทธรูปที่ทาง โรงพยาบาลตั้งไว้ให้ประชาชนสรงน้ำพระช่วงสงกรานต์ มาเป็นอาวุธ

ถึงขั้นฟาดคู่กรณีจนเลือดอาบ และมีคราบเลือดติดที่องค์พระพุทธรูป อีกทั้งเศียรพระยังมีรอยหักชำรุด

ความเลือดร้อนของวัยรุ่นคงไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างหรือเป็นคำอธิบายสำหรับการก่อเหตุลักษณะนี้ได้

สําหรับกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กำชับมาตรการให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดเวรยามและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ไม่ให้เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินถูกคุกคาม

สุดท้าย สธ.ยังขอความเห็นใจเรื่องมาตรการรับมือ ที่พยายามอย่างเต็มที่แล้ว และกรณี ที่ร..บางสะพานน้อย ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามระงับเหตุแล้ว

เมื่อฝ่ายตั้งรับทำทุกทางแล้ว ฝ่ายที่ต้องรุกเข้าถึงเยาวชนให้มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ โดย ไม่ตั้งตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนั้น ต้องเร่งหาวิธีและมาตรการที่จะบรรเทาปัญหานี้โดยเร็ว

ที่สำคัญคือรัฐต้องไม่ประพฤติตนเป็นตัวอย่างของการใช้อำนาจที่ส่งเสริมให้ตนเองเป็นใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงตามมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน