คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐอย่างผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะกล่าวถึงกรณี การดำเนินคดีกับวัดพระธรรมกายที่ยืดเยื้อว่า “งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา”

แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐอย่างรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะระบุว่าความยืดเยื้อในการจัดการกับวัดพระธรรมกายจะจบสิ้นภายในสัปดาห์นี้ หรือภายใน 5 วันหลังจาก การให้สัมภาษณ์

ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตและ ข้อสงสัยว่า ความหมายของคำว่า “จบ” ในคดีวัดพระธรรมกายของเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนโดยทั่วไปนั้นเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

แม้สามารถบุกเข้ายึดวัดหรือจับกุมตัว พระไชยบูลย์ สุทธิผล ได้

เรื่องจะจบจริงหรือ

ถามว่าแม้จะมีการประกาศถอดถอนสมณศักดิ์ของพระไชยบูลย์ สุทธิผล จนกระทั่งพระเผด็จ ทัตตชีโว แล้ว ศรัทธาที่บรรดาศิษยานุศิษย์ของวัดพระธรรมกายมี ต่อภิกษุทั้งสองรูปนี้ลดน้อยถอยลงหรือไม่

และหากคาดการณ์ว่าจะมีการดำเนินการถึงขั้นสิกขาลาเพศพระไชยบูลย์ต่อไปในอนาคต ถามว่าศรัทธาที่บรรดาศิษยานุศิษย์ของวัด พระธรรมกายมีต่อพระไชยบูลย์จะเหือดหายไปหรือไม่

สังเกตได้จากปรากฏการณ์เฉพาะหน้าที่ เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมวัดพระธรรมกาย ก็ยังมีภิกษุและฆราวาสจำนวนไม่น้อย แสดงตัวยืนเคียงข้างกับวัดพระธรรมกาย

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า“ศรัทธา” นี่คือประเด็นที่ควรแก่การพิจารณา

ฉากจบของกรณีวัดพระธรรมกายนั้น ไม่ใช่แต่เพียงการบุกเข้ายึดวัด สลายสำนัก หรือจับสึกพระไชยบูลย์อย่างแน่นอน

แต่หากต้องการจะโยกคลอนหรือลดทอน “ศรัทธา” ที่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีต่อวัด พระธรรมกาย ก็จะต้องมีการชี้แจง หักล้าง ด้วยเหตุผลข้อมูลที่เหนือกว่า จนกระทั่งสามารถ โน้มน้าวให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

การใช้กฎหมายก็ดี ใช้กำลังอำนาจเข้าบังคับของเจ้าหน้าที่ก็ดี ไม่สามารถทำให้ปัญหายุติหรือจบสิ้นลงได้ กลับอาจยิ่งทำให้ปัญหา บานปลายยิ่งขึ้นไป

การเผชิญหน้ากับ“ศรัทธา”มีแต่จะต้องใช้“ปัญญา”เข้าหักล้าง

ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ด้วย “กำลัง”โดยเด็ดขาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน