หมู่พระมหามณเฑียร (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

หมู่พระมหามณเฑียร (ตอนจบ) : รู้ไปโม้ดโดยน้าชาติ ประชาชื่น – ฉบับวานนี้ (14 พ.ค.) “กิตติ์ก้อง” ถามว่า มีพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร อยากทราบว่าหมายความถึงบริเวณใดในพระราชวัง เมื่อวานตอบไปส่วนหนึ่งแล้ว วันนี้ชวนอ่านเรื่องพระที่นั่ง 3 องค์ ที่รวมเป็นหมู่พระมหามณเฑียร สรุปความจากอรรถาธิบายเรื่องพระที่นั่งองค์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย รศ.ยุวดี ศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

หมู่พระมหามณเฑียร

จากความเกี่ยวเนื่องของพระที่นั่งองค์ต่างๆ ทั้ง 5 องค์ ที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวสำหรับพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ หากเปรียบกับเรือนของสามัญชน ความสูงของพื้นก็จะมีหลายระดับ การเปลี่ยนระดับเช่นนี้ถือเป็นการแสดงฐานะทางสังคมเช่นกัน ตัวอย่าง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระที่นั่งที่มีระดับพื้นสูงสุด เนื่องด้วยเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์

หมู่พระมหามณเฑียร

ส่วน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีระดับพื้นสูงรองลงมาเนื่องด้วยเป็นที่ประทับและที่เฝ้าแหน และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน มีระดับพื้นต่ำสุด เนื่องด้วยเป็นที่เสด็จออกขุนนางซึ่งถือว่ามีศักดิ์ที่ต่ำกว่า








Advertisement

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างหมู่พระมหามณเฑียรขึ้นในพ.ศ.2325 เดิมพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียรเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน 3 องค์ มีนามรวมกันว่า “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามแยกเป็นองค์ๆ ให้คล้องจองกัน ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่ง อมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีลักษณะเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูงประมาณ 2.40 เมตร มีเฉลียงรอบและมีเสานางจรัล (เสาราย) รับชายคาโดยรอบทั้ง 4 ด้าน ลักษณะเป็นพระที่นั่ง 3 องค์แฝด จึงเรียกว่า พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก องค์กลาง และองค์ตะวันตก

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ทรงใช้เป็นที่ประทับทรงสำราญ หรือให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานของปูชนียวัตถุสำคัญ 3 สิ่ง คือ

1.พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ในพระวิมานตอนกลางองค์พระที่นั่ง 2.พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชประทับรับน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่เกือบสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันออก 3.พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นที่ประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภคอันเป็นโบราณมงคล รับพระแสงราชศัสตราวุธ และพระแสงอัษฎาวุธในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่ตอนหน้าสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันตก

หมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน อยู่ติดกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางทิศเหนือ เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า เช่น เสด็จออกขุนนาง ออกมหาสมาคม ออกบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ พระที่นั่งองค์นี้มีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ 2 องค์ คือ

1.พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นประทับในวโรกาสเสด็จออกฝ่ายหน้าในงานมหาสมาคม หรือประดิษฐานปูชนียวัตถุในพระราชพิธี

2.พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ เมื่อมีพระราชพิธีจะเชิญมาทอดบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรอีกชั้นหนึ่ง พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์นี้ เพื่อเสด็จออกมหาสมาคมเป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์

ทั้งนี้ หมู่พระมหามณเฑียรตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งสร้างเรียงกันเป็น 3 องค์ ดังกล่าว หันหน้าไปทางทิศเหนือ
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน