ต่อรองกระทรวง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ต่อรองกระทรวง – การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดคำถามถึงเอกภาพของรัฐบาลด้วย หลังจากการรวมตัวของพรรคการเมืองเกินสิบพรรค จุดประเด็นคำถามนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม

การรวมตัวนี้ไม่ได้ท่วมท้นแบบการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่มีเสียงพร้อมเพรียง 250 เสียงจากวุฒิสภา

ทำให้อำนาจการต่อรองระหว่างพรรคการเมืองที่จะร่วมรัฐบาลกระจัดกระจาย และมองจุดร่วมในนโยบายไม่ชัด

นอกจากนี้ความสำคัญของแต่ละกระทรวงยังเป็นเงื่อนไขใหญ่ที่ทำให้การเจรจาต่อรองจบไม่ง่าย

ยิ่งเมื่อมองภาพอนาคตว่าแต่ละพรรคต้องมีผลงานแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า การไม่ยอมสละเก้าอี้ให้กันง่ายๆ ยิ่งปรากฏเป็นข่าว

ความสำคัญของกระทรวง อาจพิจารณากันด้วยงบประมาณส่วนหนึ่ง และศักยภาพในการเชื่อมโยงกลุ่มทุนขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่ง

บางกระทรวงงบประมาณสูงอันดับต้นๆ ถึง 3-4 แสนล้านบาท เช่น ศึกษาธิการ มหาดไทย เป็นไปตามจำนวนข้าราชการมากกว่าโครงการ

แต่บางกระทรวงที่มีงบประมาณไม่แตะหมื่นล้านบาท เช่น พลังงาน พาณิชย์ อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและกีฬา กลับมีความสำคัญในด้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่แพ้กระทรวงคมนาคมที่อยู่อันดับต้นๆ

ส่วนกระทรวงที่ใกล้ชิดประชาชนและต้องจัดสรรประโยชน์ในนโยบายสาธารณะ อันมีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคการเมือง ได้แก่ เกษตรและสหกรณ์ สาธารณสุข

ขณะที่กระทรวงการคลังและกระทรวงกลาโหม มีสถานะสูงในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางทหาร

เมื่อพรรคการเมืองแต่ละพรรคหาเสียงต่อประชาชนไปแล้วว่าจะสร้างผลงานและแก้ปัญหาให้ประชาชนตามนโยบายที่นำเสนอ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องต่อรองและแย่งชิงกระทรวงที่จะตอบสนองเป้าหมายของตนเองให้ได้

เนื่องจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นไปตามกฎกติกาที่วางไว้ไม่ให้มีพรรคครองเสียงข้างมาก บวกกับการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ด้วยสูตรแปลกใหม่ ทำให้ผลกระทบเกิดทั้งกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

โจทย์การตั้งรัฐบาลที่แกนนำระบุให้ช่วยกันพายเรือ จึงยากตั้งแต่เริ่มต้น และมีแนวโน้มจะส่งผลให้ยากต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน