จากใต้สู่กรุง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

จากใต้สู่กรุง – จากการสอบสวนเหตุการณ์วางระเบิดอย่างน้อยสิบจุดในกรุงเทพมหานคร พบประเด็นเชื่อมโยงกับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้มากขึ้น ทั้งจากผู้ต้องสงสัยและวิธีการลงมือ

แน่นอนว่าวิธีการที่คนร้ายใช้เป็นเรื่องที่ต้องประณาม เพราะทำให้มีผู้บาดเจ็บและสร้างผลกระทบโดยรวมต่อประเทศ

แต่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน ไม่ใช่เพราะมีระเบิดเข้ามาโผล่กลางกรุง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ความ ขัดแย้งบานปลายออกไปอีก

ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าบานปลายมาจากการใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปมา ไม่ว่าด้วยอาวุธ กองกำลัง หรือการโฆษณาชวนเชื่อ

ทั้งที่มีบทเรียนมานักต่อนักว่าการใช้ความรุนแรงยุติความรุนแรงไม่ได้

สถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลไม่เพียงมีหน้าที่ต้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ยังต้องบรรเทาความขัดแย้งของประชาชนด้วย

การให้ความคิดเห็นหรือแสดงทัศนคติต่อกลุ่ม ผู้ก่อการต้องแยกแยะจากประชาชนคนทั่วไป ไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศสร้างความเกลียดชัง หรือทำให้กลุ่มที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ทิ้งระยะห่างกันออกไปเรื่อยๆ จนขาดจุดร่วมที่จะทำความเข้าใจกัน กลายเป็นความหวาดระแวงกัน

โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติหรือแสดงท่าทีของเจ้าหน้าที่ต่อคนกลุ่มต่างๆ จะเสี่ยงอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดปัจจัยเพิ่มความขัดแย้งขึ้นอีก

หากสังเกตความคิดเห็นของผู้คนตามสื่อออนไลน์ หรือสื่ออื่นๆ จะพบเนื้อหาที่น่าวิตกคือการสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการ ปราบปราม ไปจนถึงการปลุกระดมชาตินิยม ปฏิเสธความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม

กรณีนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตระหนักและทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อปรับปรุงบรรยากาศลดความเกลียดชังและความขัดแย้ง

ตั้งแต่ปี 2547-2561 เป็นต้นมา รัฐบาลชุดต่างๆ ใช้งบประมาณสำหรับการแก้ปัญหานี้มาไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

ต้องพิจารณาและประเมินผลให้ได้ว่าเสียงของประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่ชายแดนใต้ดังมาถึงเมืองหลวงมากขึ้นหรือไม่ ถูกเสียงปืนเสียงระเบิดดังกลบหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน