FootNote:กลยุทธ์แมวไล่จับหนู ถวายสัตย์ปฏิญาณตน

อาการ “หนีสภา” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปรากฏเมื่อวันพุธที่ 7 กับวันพุธที่ 14 สิงหาคม เป็นสภาที่เหลือเชื่อ เป็นสภาพที่นึกไม่ถึง

นึกไม่ถึงเมื่อนำไปเทียบกับสภาพของหัวหน้าคสช.เมื่อก่อรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

นึกไม่ถึงเมื่อนำไปเทียบกับสภาพของหัวหน้าคสช.และนายก รัฐมนตรีที่ตอบรับคำเชิญจากพรรคพลังประชารัฐให้อยู่ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี

นึกไม่ถึงเมื่อนำไปเทียบกับการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมรัฐสภาจาก 251 ส.ส.และจาก 249 ส.ว.รวมแล้วเป็น 500

นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกว่าจะ”หนีสภา”ไปอีกนานเท่าใด

ถามว่าการไม่ยอมเดินทางเข้าสภาเพื่อตอบกระทู้ถามสดจากสมาชิกสภาในเรื่องอันเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณตนจะมีผลทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดปลอดภัยหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็รู้อยู่แก่ใจว่า การกล่าวนำคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมเป็นอย่างไร

นั่นก็คือ “ผมขอรับผิดชอบเพียงผู้เดียว”

ในเมื่อเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องประเภทกินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง

ไม่ว่านายกรัฐมนตรี ไม่ว่ารัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีกล่าวนำด้วยถ้อยคำอย่างไร รัฐมนตรีกล่าว ตามด้วยถ้อยคำอย่างไร ในวันที่ 16 กรกฎาคม เป็นเรื่องที่ปรากฏ อย่างเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์

การหนีไม่ยอมไปตอบกระทู้ถามสดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงเท่ากับเป็นการตอบไปแล้วโดยปริยาย เป็นความผิดเชิงสำเร็จไปแล้ว

จึงอยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับผิดชอบอย่างไร

หากว่าในวันพุธที่ 21 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงดำเนินกลยุทธ์หลบหนีไม่ยอมไปตอบกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎร

ก็ยิ่งจะเท่ากับเป็นการตอกย้ำเป็นคำรบที่ 3 ภายในเวลาไม่พ้นเดือน

การเล่นเอาเถิดระหว่างสมาชิกสภากับนายกรัฐมนตรีก็จะยิ่งดำเนินต่อไปด้วยความเข้มข้น ดุเดือดเป็นทบเท่าทวีคูณ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน