เศรษฐกิจ-การเมือง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เศรษฐกิจ-การเมือง – สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพิ่งนำเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องการทบทวนสถานการณ์ประเทศไทย ที่ชี้ชัดถึงการเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนากระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่

สภาพการณ์อย่างที่ทราบๆ กันคือ เมืองโดยรอบถูกดึงทรัพยากรมาใช้สนับสนุนเมืองใหญ่ แต่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเมืองใหญ่ค่อนข้างน้อย

แนวทางแก้ปัญหาที่สภาพัฒน์เสนอ คือให้ เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อกระจายความเจริญให้ไปถึงเมืองรอง และการพัฒนากลไกระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม

ที่น่าสนใจคือหนทางการแก้ปัญหานี้ระบุว่า ระบบการบริหารงานภาครัฐต้องกระจายอำนาจมากขึ้น

แนวทางกระจายอำนาจจากส่วนกลางเป็นเรื่องที่พูดกันมานานมาก และมีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นพักๆ ตามสถานการณ์ทางการเมือง

เช่น ช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง จะเกิดกลไกการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น มีแม้กระทั่งการถกเถียงข้อเสนอให้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดที่นอกเหนือไปจากกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงรวมทั้งข้อปฏิบัติที่ปูทางสู่การกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น มักสะดุดเมื่อเกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจ

เนื่องจากแนวทางการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จกับแนวทางประชาธิปไตย ขัดแย้งกันทุกกระบวนการ และไปด้วยกันไม่ได้

สถานการณ์ขณะนี้คือเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงซึมและบ้างใช้คำว่าถดถอย

นอกเหนือจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก ในประเทศยังเจอกับปัจจัยทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อการผลิต ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีรายงานล่าสุดว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรไทยลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ภูมิภาคอื่นดีขึ้น ดังนั้น จะกระทบศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลกอย่างแน่นอน

ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนส.ค.2562 หดตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาพรวมภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะอันใกล้ ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 9.2

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ล้วนบ่งบอกภาพที่ไม่สู้ดีสำหรับเศรษฐกิจขณะนี้และวันข้างหน้า ดังนั้นหนทางใดที่ต้องแก้ไขด้วยการเมือง ต้องรีบทำให้เร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน