เศรษฐกิจเติบโตช้า

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เศรษฐกิจเติบโตช้า – สภาพการณ์และบรรยากาศทางเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้คล้ายกันว่าไม่สู้ดีนัก

ผู้ดูแลและผลักดันเศรษฐกิจของประเทศระบุว่ามาจากปัจจัยภายนอกที่เกิดความขัดแย้งทาง การค้า และผลกระทบทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจซบเซา

ส่วนปัจจัยภายใน ยังระบุไม่ได้ชัดเจน เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะมุมมองต่อการบริหารงานของรัฐบาล

กรณีเร็วๆ นี้ ผู้นำรัฐบาลระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจอาเซียนและไทย ไม่ได้ใช้คำว่าเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นเศรษฐกิจ “เติบโตช้าลง” ในปีหน้าและปีต่อไป

เป็นประเด็นที่มีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้เริ่มเกิดขึ้นกับ ประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี หากวัดจากเกณฑ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นลบ สองไตรมาสติดต่อกัน

ส่วนหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป เศรษฐกิจถดถอย หมายถึงการหดตัวของวัฏจักรธุรกิจ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอโดยรวม มีตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาค เช่น จีดีพี รายจ่ายการลงทุน กําลังผลิตของภาคอุตสาหกรรม รายได้ครัวเรือน กำไรธุรกิจและเงินเฟ้อลดลง ขณะที่การล้มละลายและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่งเปิดตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย.2562 ติดลบที่ -1.5% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 แล้ว

นอกจากนี้ ภาพรวมที่ธปท.สรุปคือ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวด การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว

มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้

ด้วยสองปัจจัยหลัง ทำให้รัฐบาลลุ้นว่าจะทำให้ตัวเลขเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจแตะที่ 2.8%

แต่ด้วยปัจจัยต่างแวดล้อม รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลมุ่งกระตุ้นการใช้จ่ายภายใน และการลงทุนมากยิ่งขึ้น กำลังเป็นคำถามและข้อถกเถียงว่าจะช่วยประคองเศรษฐกิจและเข้าถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างไร

เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย หรือเติบโตช้าลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน