FootNote : ชื่อชั้นของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็น “ข้อเสนอ” ที่มิอาจ “ปฏิเสธ”

กลยุทธ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในการผลักดัน นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าสู่ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เป็นกลยุทธ์ “เหนือเมฆ” แต่ละก้าวย่างดำเนินไปอย่างรัดกุม แม่นยำ

กำลังจะกลายเป็น”ข้อเสนอ”ที่มิอาจปฏิเสธได้

7 พรรคฝ่ายค้านร่วมนั้นมีกำลังในการจะอภิปรายเรื่องนี้น้อยอยู่แล้วเพราะสัดส่วนจำนวนกรรมาธิการตกเป็นรอง เนื่องจากด้านหลัก 30 จาก 49 อยู่ทางด้านของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าเป้าหมายการจัดวางกลยุทธ์ครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การเอาชนะพรรคพลังประชารัฐมากกว่า

จึงต้องเอา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาสู้

คำถามก็คือภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันมีนักการเมืองคนใดชื่อและชั้นสามารถวางเรียงอยู่เคียงข้างกับนักการเมืองนาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้

เว้นแต่จะหวนกลับไปใช้บริการของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จาก พรรครวมพลังประชาชาติไทยเท่านั้น

1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเป็น”นายกรัฐมนตรี”

1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันเจตจำนงที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐ ธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น

เจตจำนงนี้กลายเป็น”เงื่อนไข”ของพรรคประชาธิปัตย์

หากตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ตกไปอยู่ในมือของพรรคพลังประชารัฐก็อาจกลายเป็น”ตลกร้าย”ทางการเมืองเพราะ พรรคพลังประชารัฐไม่เคยมีความต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แล้วใครที่ไหนจะให้ความเชื่อถือกับ”คณะกรรมาธิการ”

การปรากฏชื่อของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผลักดันมาจากพรรค ประชาธิปัตย์จึงเท่ากับเป็นเด็ดล็อกในทางการเมือง ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกปฏิเสธ

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะหงุดหงิดอย่างไร แต่ในที่สุดแล้วก็จำเป็นต้องยอมรับ
เว้นแต่พรรคพลังประชารัฐต้องการจะล้มกระดาน

นั่นก็หมายความว่าการกำหนดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลก็เป็นการหลอกลวง

เพราะไม่ได้จริงจัง เพราะไม่เชื่อมั่นแม้กระทั่งคำว่า”เร่งด่วน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน