ส.ว.ต้องไม่ขวาง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ส.ว.ต้องไม่ขวาง – หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ร่วมกันเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาในเดือนพฤศจิกายนนี้ได้หรือไม่ เพราะมีเรื่องที่สภาต้องพิจารณาและรับทราบจำนวนมาก แต่หลายฝ่ายก็เร่งผลักดันอยู่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วย และแสดงการปกป้องอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยตรง

จนถูกมองว่าออกมารักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

จริงอยู่ แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกออกแบบล็อกหลายชั้นให้แก้ไขลำบาก ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงวุฒิสมาชิกด้วย และสุดท้ายก็ต้องทำประชามติ

แต่ถ้าหากมองด้วยใจเป็นธรรม ก็จะพบว่าตลอดระยะเวลาที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับมา มีปัญหาต่างๆ มากมาย การรีบตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาจึงมีความจำเป็นและชอบธรรม ดีกว่าจะปล่อยให้เป็นปัญหาไม่จบไม่สิ้น

ในส่วนของรัฐบาลเอง ก็บรรจุไว้นโยบายว่าจะศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ก็ยิ่งต้องแสดงความจริงใจว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริงให้จงได้ การโยนลูกกันไปกันมาให้สภารับผิดชอบฝ่ายเดียว จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง

จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายื้อและลอยตัวได้

ย้อนกลับไปถึงความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภาบางคน ที่อ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ มีแต่นักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น คนที่อยากแก้ส่วนใหญ่เป็นพวกดัดจริตทางการเมือง

อีกทั้งกล่าวหาว่าพวกแพ้การเลือกตั้งและอยากแก้มือ รวมถึงพวกกระสันอำนาจ อยากมีอำนาจ สองกลุ่มนี้เตรียมเคลื่อนไหวสั่นคลอนสถานการณ์บ้านเมืองนั้น ถือว่าเป็นการพูดที่ไม่สร้างสรรค์

เพราะถ้ามองอย่างรอบด้านและมีสติก็จะพบว่าไม่ได้มีเพียงแต่นักการเมืองเท่านั้น แต่ภาคประชาชน เครือข่ายอาจารย์นักวิชาการ ตลอดจนภาคีองค์กรเอกชนก็แสดงจุดยืนสนับสนุนเช่นกัน

ไม่ได้มีแต่พวกกระสันอยากมีอำนาจ แต่อยากเห็นรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน