FootNote : อ่าน พลังประชารัฐ รัฐธรรมนูญ จากตัวตน ไพบูลย์ นิติตะวัน

ต้องชมเชยว่าท่าทีพรรคพลังประชารัฐต่อตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เปี่ยมด้วยความจริงใจและแน่วแน่มั่นคง
ไม่ว่าการยกชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันชื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เข้ามาแทนที่
หรือแม้กระทั่งการออกโรงยืนหยัดยืนยันว่าตำแหน่งประธานจะต้องเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมาจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไม่ว่าจะมาจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
เพราะท่านเหล่านี้ล้วนมีจุดยืนที่ยืนหยัด ยืนยันด้วยความมั่นคงแน่วแน่มาตลอดว่า ไม่เคยมีความต้องการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรม นูญแม้แต่น้อย
เนื่องจาก “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

ขอให้ย้อนกลับไปพิจารณาบทบาททั้งของ นายสุชาติ ตันเจริญ และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าเคยยอมรับในความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาบ้างหรือไม่
โดยเฉพาะ นายไพบูลย์ นิติตะวัน
ไม่ว่าจะเป็นบทบาทเมื่ออยู่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ไม่ว่าจะเป็นบทบาทเมื่อรัฐธรรมนูญเข้าสู่การทำประชามติ
และที่สุดแล้วแนวคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองอันกลายมาเป็นพรรคประชาชนปฏิรูปของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ก่อนยุบพรรคแล้วย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐ
ก็ยึดกุมบทสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” ด้วยความแน่วแน่และมั่นคง
คนแบบนี้แหละที่พรรคพลังประชารัฐต้องการให้เป็น “ประธาน”
ความหมายก็คือเป็นประธานเพื่อที่จะได้ไม่ต้องแก้ “รัฐธรรมนูญ”

จากท่าทีแบบนี้ของพรรคพลังประชารัฐนั่นเองยิ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
หากพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า “จำเป็น”ต้องแก้ไข”รัฐธรรมนูญ”
จึงถูกต้องแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาเป็นแคนดิเดตในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ไม่ว่าจะแข่งกับ นายสุชาติ ตันเจริญ ไม่ว่าจะแข่งกับ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ก็ตาม
นี่คือการวัดศักดิ์ศรี วัดหลักการการเมืองอันแหลมคมเข้มข้นยิ่ง

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน