FootNote : ‘บ่วง’แห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัดทั้ง ‘รัฐบาล’และประชาธิปัตย์

ไม่ว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เคยตั้งข้อสังเกตต่อสถานะแห่งการเป็น “ระเบิดเวลา”ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เอาไว้ตั้งแต่เริ่มบาทก้าวแรกในการเคลื่อนไหว

เคลื่อนไหวเพื่อสร้าง “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญ ใหม่” ที่เชียงใหม่มาแล้ว

เป็นการตั้งข้อสังเกตจากที่มาและเนื้อหาของ “รัฐธรรมนูญ”

เพราะที่มาคือ 1 รัฐประหาร 1 คสช. เพราะเนื้อหา 1 เพื่อการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร สืบทอดอำนาจคสช.

โดยไม่คำนึงถึง “ภูมิทัศน์”และ “บริบท”การเมืองที่เปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์และบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปหลังการเลือกตั้งจะยิ่งทำให้เกิดความร้อนแรงในทางการเมือง

เป็นความร้อนแรงที่รุมเร้าโดยรอบ “รัฐธรรมนูญ”








Advertisement

ปัจจัยหนึ่งซึ่งกลายเป็นตัวจุดชนวนอย่างสำคัญ นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช

เป็นปัจจัยอันมาจาก “พรรคประชาธิปัตย์”

ไม่ว่าเจตนาของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำหนดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นเงื่อนไข 1 ในการเข้าร่วมรัฐบาลจะมีเป้าหมายอะ ไรในทางการเมือง

เพื่อแต้มสีสันอันเป็น “ประชาธิปไตย” เพื่อยืนยันหลักการอันจะส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์พลิกฟื้นคะแนนและความนิยมกลับคืน

แต่เงื่อนไขนี้คือ “บ่วง”ที่กำลังบีบรัด

ไม่เพียงบีบรัดต่อคสช. ไม่เพียงบีบรัดต่อรัฐบาล หากที่สำคัญยังเป็นบีบรัดต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เห็นได้จากท่าทีในห้วงปีใหม่ของ นายชวน หลีกภัย

กระบวนการแก้ไขและไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะกลายเป็นสันปันน้ำอย่างแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

ใครไม่ต้องการให้มีการแก้ไข ใครต้องการให้มีการแก้ไข

แม้คสช.และรัฐบาลจะพยายามสร้าง PROXY ผ่านบทบาทของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษา เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

แต่บทบาทในห้วงเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญนั่นแหละ จะฉายชี้ออกมาให้เห็นชัดว่าภาระธุระของเขาคืออะไร

สังคมจะได้เห็น ประชาชนจะได้คำตอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน