ยกระดับ‘แล้ง’-วาระแห่งชาติ

น้ำเขื่อนวิกฤต-น้ำเค็มหนุนซ้ำ

ยกระดับ‘แล้ง’-วาระแห่งชาติ น้ำเขื่อนวิกฤต-น้ำเค็มหนุนซ้ำ – หนักหนาสาหัสจริงๆ กับภัยแล้งปีนี้ที่มากันแต่หัววัน เพราะแค่พ้นปีใหม่ไม่กี่วันก็ประสบปัญหาวิกฤตกันแล้ว ทั้งทวีความรุนแรงแทบทุกภาค เนื่องจากปริมาณ น้ำต้นทุนมีน้อยประกอบกับกรมอุตุฯ ยังคาดการณ์ว่าปีนี้ฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10-16%

ยังไม่ทันกลางเดือนม.ค. ปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศลดลงมากทั้งจากอากาศร้อน และจากการที่เกษตรกร ยังคงเพาะปลูกพืชเกษตร โดยเฉพาะข้าวปลูกมากเกินแผนโดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศขอความร่วมมือไม่ให้เพาะปลูกข้าว เพราะข้าวใช้น้ำปริมาณมาก แต่ขณะนี้ปลูกข้าวมากกว่า 2 ล้านไร่แล้ว

และตลอดลุ่มเจ้าพระยาชาวนายังคงปลูกข้าวกันเป็นปกติ ด้วยเหตุผลไม่ให้ปลูกแล้วจะให้ทำอะไร เพราะตลอดชีวิตชาวนาคือต้องปลูกข้าว

จากแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งกำหนดรวมไว้ทั้งสิ้น 6,845,842 ไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 2,310,000 ไร่ หรือ 34% พืชไร่ พืชผัก 520,993 ไร่ หรือ 7% และพืชอื่นๆ 4,014,849 ไร่ หรือ 59%

ส่วนการทำนาปรังสนับสนุนให้ปลูกเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองเท่านั้น ขณะนี้มีการปลูกไปแล้ว 840,000 ไร่ หรือ 41% แต่ลุ่มเจ้าพระยางดการทำการเกษตร

สถานการณ์น้ำปีนี้หนักหน่วงมาก โดยน้ำใช้การได้ ในปี 2563 มีปริมาณ 20,324 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ของความจุอ่าง ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนหน้าที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ 30,189 ล้าน ลบ.ม. หรือ 64%

แผนการจัดสรรน้ำปี 2562/63 น้ำต้นทุน รวม 29,039 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นใช้เพื่อการจัดสรรน้ำเพื่อฤดูแล้ง หรือระหว่างพ.ย.2562-เม.ย.2563 ปริมาณน้ำ 17,699 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 61%

ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% รักษาระบบนิเวศ 7,006 ล้าน ลบ.ม. หรือ 40% อุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3% เกษตรฤดูแล้ง 7,874 ล้าน ลบ.ม.

สำรองต้นฤดูฝนปี 63 (พ.ค.-ก.ค.) รวม 11,340 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39% ของปริมาณน้ำต้นทุน โดยน้ำส่วนนี้จะสำรองเพื่อการอุปโภคบริโภค 4,909 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% และฝนทิ้งช่วง 6,431 ล้าน ลบ.ม. หรือ 57%

นับช่วงฤดูแล้ง คือ 1 พ.ย.-30 เม.ย. ผ่านหน้าแล้ง 2 เดือนเศษ ปริมาณน้ำลดลงอย่างมาก เนื่องจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำน้อย ส่งผลให้ค่าความเค็มเกินมาตรฐานที่จะนำไปอุปโภค บริโภค

จนทำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต้องเรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำเค็มหนุนสูง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ กรมชลประทาน สภาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) หรือ สสน., สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า การประปานครหลวง (กปน.) กรมควบคุมมลพิษ, กรมอุทกศาสตร์ทหาร และกรมส่งเสริมการเกษตร

ยกระดับ‘แล้ง’-วาระแห่งชาติ น้ำเขื่อนวิกฤต-น้ำเค็มหนุนซ้ำ

สมเกียรติ ประจำวงษ์

เพื่อหาวิธีขจัดปัญหาการรวมตัวของน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและมาตรการรองรับ เนื่องจากช่วงนี้ น้ำเค็มหนุนสูงอาจส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภค

แผนปฏิบัติการรับมือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ด้านการเกษตร ในเขตชลประทาน ปรับแผนในการระบายน้ำ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความจำเป็น เพื่อให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ เพราะน้ำต้นทุนปีนี้มีน้อยมาก

ทุกฝ่ายกังวลว่าหากถึงฤดูฝนแล้วฝนไม่ตกตามฤดูกาลจะเกิดความเสียหาย

ล่าสุดเท่าที่หารือกับกรมอุตุฯ และหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำ สรุปตรงกันว่าครึ่งปีแรก 2563 น้ำน่าจะลดลง และการเพาะปลูกข้าวนาปี พ.ค.-มิ.ย. อาจต้องเลื่อนออกไปเพราะน้ำไม่เพียงพอ

ส่วนนอกพื้นที่ชลประทานขณะนี้พบว่าเสี่ยงขาดแคลนน้ำ มีพืชยืนต้นตายจำนวนกว่า 3.7 แสนไร่ ส่วนผลไม้พืชเศรษฐกิจที่สำคัญทั่วประเทศยืนต้นตายจำนวน 2.6 ล้านไร่ ในพื้นที่ 30 จังหวัด

ในส่วนนี้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อฟื้นชีวิตพืชเหล่านั้นโดยเร่งด่วน

ด้านนายวรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง หัวหน้างานวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสถาบันสารสนเทศ สสน. ระบุว่ากลุ่มประธานสมาคมชาวสวนทุเรียน จังหวัดนนทบุรี และกล้วยไม้ กังวลเจอน้ำเค็มหนุนสูง และสภาพอากาศแล้งอาจส่งผลกระทบอาจยืนต้นตายได้

ส่วนเกษตรกรที่ปลูกผักส่งร้านสุกี้เอ็มเค กังวลว่าผักอาจเสียหายไม่สามารถส่งให้กับผู้ซื้อได้ตามกำหนด ซึ่งสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง จึงต้องเร่งป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น

สำหรับเหตุการณ์น้ำเค็มหนุนสูงระหว่างวันที่ 8-15 ม.ค.นี้ ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อน้ำประปาทำให้รสชาติกร่อย กระทบน้ำสำหรับทำการเกษตร

ดังนั้น มาตรการเร่งด่วนนอกจากการระบายน้ำจาก 2 เขื่อนหลักตอนบน ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อผลักดันน้ำเค็มแล้ว แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่จำกัดจึงต้องมีการปรับแผนลำเลียงน้ำจากฝั่งตะวันตก ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมากกว่า ระบายผ่านแม่น้ำแม่กลองมาช่วยเหลือในพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบยกระดับการแก้ปัญหาภัยแล้งปี 2563 เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำแล้งที่อาจวิกฤตเป็นระดับ 3 หรือสาธารณภัยขนาดใหญ่

คาดว่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น ในพื้นที่มากกว่า 60% จากปัจจุบัน ที่อยู่ในระดับ 2

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อนุมัติงบประมาณดำเนินการเพื่อเร่งแก้ปัญหาน้ำแล้งไว้ที่วงเงิน 6,029 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของหน่วยงานที่เป็นงบปี 2563 ที่ใช้ไปพลางในปี 2562 วงเงิน 2,950 ล้านบาท และงบกลางอีกจำนวน 3,079 ล้านบาท

นอกจากนี้ปริมาณน้ำโขงอยู่ในเกณฑ์น้อยมากต่ำกว่าระดับต่ำสุดในปี 2535 และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องเพราะประเทศต้นน้ำอย่างจีน และลาว กักน้ำในเขื่อนไว้

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรม ชลประทาน กล่าวว่า ตัวเลขเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ ผ่านมา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 46,390 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 61% ของความจุเก็บกักรวมกัน

มีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,565 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 43% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,875 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 44% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,179 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 23% ของปริมาณน้ำใช้การ

ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือในการช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยระบุว่าภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหา ภัยแล้งได้ ต้องอาศัยการตระหนักรู้ว่าภัยแล้ง

ปริมาณน้ำน้อยไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงผู้เดียว ประชาชนทุกภาคส่วนต้องช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อนำพาไทยผ่านพ้นวิกฤตแล้งนี้ไปด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน