คอลัมน์ รายงานพิเศษ

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นายบัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และบ.ก.นิตยสารวิภาษา

น.ส.เสาวนี อเล็กซานเดอร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี นายเสนาะ เจริญพร คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี และนายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดแถลงข่าว เนื่องในโอกาสการครบรอบ 3 ปีแห่งการทำรัฐประหาร โดยคสช. นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 หัวข้อ “3 ปี ที่เสียของ 3 ปีแห่งการสูญเสียของสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร” แบ่งเป็น 10 ด้าน ดังนี้

สําหรับการแถลงข่าวดังกล่าวระบุว่า ได้สร้างความสูญเสียให้สังคมไทย ทั้งหมด 10 ด้าน ดังนี้

1.เสียสิทธิและเสรีภาพ

พลเมืองไทยตกอยู่ใต้การปกครองที่ทหารเป็นใหญ่เหนือองค์กรอื่นๆ ผู้นำประเทศใช้ทหารเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานร่วม มีบทบาทอย่างสำคัญในการแทรกแซง กดดัน และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งในส่วนของการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล คสช. รวมถึงกองทัพ

ดังกรณีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยาน ราชภักดิ์ การตั้งข้อหากับประชาชนในการทำประชามติ กระทั่งทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ตกเป็นจำเลย มิพักต้องเอ่ยถึงการนำคดีของพลเรือนเหล่านั้นขึ้นสู่การพิจารณาโดยศาลทหาร

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังปรากฏ ในการอภิปรายทางวิชาการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งทำให้การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์และสันติถูกจำกัดวงอย่างมาก

ขณะที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็ถูกแทรกแซงทั้ง ทางตรงและทางอ้อม สร้างความวิตกกังวลและหวาดกลัวให้กับนิสิต นักศึกษา และอาจารย์ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้เข้าไปแสดงตัวถึงในมหาวิทยาลัยในการจำกัด สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางวิชาการ








Advertisement

ในส่วนของสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยังมีการจำกัดสิทธิ ตลอดจนการคุกคามการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบและสันติอยู่ ล่าสุดดังการรำลึกเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ห้ามจุดเทียนรำลึกในบริเวณที่มีการปะทะและสลายการชุมนุม ญาติของผู้เสียชีวิต จะแสดงการรำลึกก็ถูกควบคุมตัว

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังปรากฏชัดขึ้นผ่านความพยายามควบคุมสื่อทางสังคม เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก และอื่นๆ ถึงในระดับของบทสนทนา ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่ามีคดีทางการเมืองและมาตรา 112 จำนวนมากพุ่งเป้าไปที่บทสนทนาส่วนตัวในสื่อทางสังคม ขณะที่ประชาชนก็อยู่ในความหวาดกลัวเพราะไม่รู้ว่าจะตกเป็นเป้าเมื่อใด รวมทั้งวิตกกังวลว่ารัฐบาลจะปิดสื่อทางสังคมหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะมีการตรากฎหมายควบคุมสื่อทางสังคมในที่สุด

2.เสียเวลา เสียอนาคต

รัฐบาลทหารและคสช. “กล่าวอ้าง” มาตลอดว่า มีเจตนารมณ์ที่จะสร้าง “ความปรองดองสมานฉันท์ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้สังคมไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยไม่จำเป็นต้องแตกแยก แบ่งฝ่าย

แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลทหารและคสช.กลับใช้อำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการอาศัยมาตรา 44 ในการข่มขู่คุกคาม และจับกุมคุมขังนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชน ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากตน อีกทั้งยังละเมิดหลักการ ขั้นตอน และกระบวนการยุติธรรมกฎหมายปกติ ในหลายกรณีกลับอาศัยกลไกของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนอีกด้วย

พฤติการณ์ของรัฐบาลทหารและ คสช. ดังกล่าวไม่เพียงก่อให้เกิดการ “เสียเวลา” ในการพัฒนาสังคมการเมืองไทยให้ไปสู่สังคมที่เคารพและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หากแต่ยังทำให้ประเทศชาติและประชาชนจำนวนมาก “เสียอนาคต” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “คนหนุ่มสาว” ที่มีความฝันและจิตวิญญาณเสรี ในการร่วมสร้างสังคมการเมืองไทยให้เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

3.เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลทหารและคสช. ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส ในการเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ในช่วง พ.ศ.2541-2556 เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี แต่ช่วง พ.ศ. 2557-2559 การเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2-3 ต่อปี

เช่นเดียวกับในส่วนของการส่งออกที่ในช่วง พ.ศ. 2550-2556 เคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ทว่าในช่วง พ.ศ. 2556-2559 กลับกลายเป็นติดลบเฉลี่ยร้อยละ -2 ต่อปี

นอกจากนี้ การลงทุนภายในประเทศของเอกชนที่เคยเติบโตร้อยละ 11.8 ใน พ.ศ. 2556 กลับกลายเป็นลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -0.8 ใน พ.ศ. 2557 และลดลงอีกร้อยละ -2.2 ใน พ.ศ.2558 ก่อนจะเติบโตขึ้นมาเพียงร้อยละ 1.8 ใน พ.ศ.2559

เช่นเดียวกับในส่วนของเงินทุนระหว่างประเทศ ก่อน พ.ศ. 2556 เคยมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ทว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมากลายเป็นเงินทุนไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ.2557 ไหลออกสุทธิ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ใน พ.ศ.2558 ไหลออก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และใน พ.ศ.2559 ไหลออก 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ที่เคยสูงสุด 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ใน พ.ศ.2556 ลดลงเหลือ 2,553 ล้านดอลลาร์ใน พ.ศ.2559 โดยภายในกลุ่มอาเซียน ถึง พ.ศ. 2556 ประเทศไทยรับเงินลงทุนต่างชาติจากนอกอาเซียนสูงเป็นอันดับสอง รองจากสิงคโปร์ แต่ถึง พ.ศ.2558 ประเทศ ไทยตกเป็นอันดับห้า รองจากสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (รองจากไทยคือ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน)

นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่อง เช่น การขอใบอนุญาตพื้นที่ก่อสร้างจากที่ขยายตัวร้อยละ 10 ใน พ.ศ.2556 กลับลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -4.7 ใน พ.ศ.2557 ลดลงร้อยละ -1.0 ใน พ.ศ.2558 และลดลงอีกร้อยละ -8.7 ใน พ.ศ.2559 ดัชนีวัสดุก่อสร้างจากที่ขยายตัวร้อยละ 10 ใน พ.ศ.2556 กลับลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -1.7 ใน พ.ศ.2557 ลดลงร้อยละ -2.4 ใน พ.ศ.2558 และลดลงร้อยละ -2.0 ใน พ.ศ. 2559

เช่นเดียวกับรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงต่อเนื่อง จาก ลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -5.6 ใน พ.ศ.2557 ลดลงอีกร้อยละ -10 ใน พ.ศ. 2558 และเพิ่มเพียงร้อยละ 1.3 ใน พ.ศ.2559 ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ใน พ.ศ.2556 ก็ชะลอลงเป็นร้อยละ 11 ใน พ.ศ.2559

ด้านการใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนของประชาชนลดลง (ติดลบ) ทุกปี จากลดลงร้อยละ -15.3 ใน พ.ศ.2557 เป็น ร้อยละ -6.7 ใน พ.ศ. 2558 และร้อยละ -1.2 ใน พ.ศ.2559 สะท้อนความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและมาตรฐานการ ครองชีพที่ไม่กระเตื้องขึ้น ประเทศจึงเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงสามปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร

4.เสียการมีส่วนร่วมและอำนาจของประชาชนในการพัฒนาและจัดการทรัพยากร

เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจได้ยกเลิกฉันทามติการอยู่ร่วมกันในสังคมและหันมาใช้อำนาจเฉพาะกิจ อาทิ การออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2559 ฉบับที่ 4/2559 และฉบับที่ 9/2559 ปลดล็อกโรงไฟฟ้าขยะให้ตั้งในพื้นที่ใดก็ได้ และหากมีกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ก็ไม่ต้องทำรายงานการประเมิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ส่งผลให้มีโรงไฟฟ้า ขยะเกิดขึ้นประมาณ 50 แห่งเพียงแค่ในช่วงปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน การจัดกิจกรรมรับฟังสาธารณะชุมชนที่ได้รับผลกระทบ มักถูกควบคุมและกีดกันออกจากการประชุมโดยกำลังทหาร รวมทั้งยังมีการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม แกนนำการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ดังกล่าว ยังเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯด้วย ดังกรณีโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่รัฐบาล คสช. ก็เดินหน้าอนุมัติดำเนินการต่อ เป็นต้น

คสช. ไม่เคยนำข้อมูลและความเห็นของประชาชนกลับมาทบทวนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทั้งในแง่ของ การศึกษาผลกระทบ การปฏิบัติการ รวมถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ

5.เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หัวหน้า คสช. ใช้คำพูดที่ดูถูกเหยียดหยามประชาชนโดยเฉพาะคนระดับล่างหรือคนยากจนตลอดเวลา นับตั้งแต่การกล่าวหาว่าพวกเขายากจนเพราะฟุ้งเฟ้อ ไม่รู้จักพอเพียง เช่น “บอกให้พวกเขาสอนลูกหลานให้รู้จักฐานะตนเอง ลูกต้องไม่รบกวนพ่อแม่จนเกินไป จนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน…ไปหลงติดการพนัน สุรา ยาเสพติด ใช้ของราคาแพงเกิน”

และครั้นจะให้ความช่วยเหลือ นอกจากจะเน้นในด้านการสงเคราะห์แทนที่จะเป็นการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนสถานะประชาชนผู้ทรงสิทธิให้เป็นคนอนาถา หัวหน้า คสช. ยังมักถือโอกาสตำหนิและทวงบุญคุณประชาชนเสมอมา ดังที่ว่า “ผู้มีรายได้น้อย ต้องเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนความคิด เพิ่มความขยันขันแข็ง…อย่าเกียจคร้าน รอรัฐบาลช่วยเหลือตลอดเวลา”

หัวหน้า คสช. ยังมักแสดงทัศนะเชิงเหยียดเพศหญิงอยู่เสมอ ไม่นับรวมข้อที่เขาไม่เชื่อว่า “คนจน” จะมีความรู้ความเข้าใจในประชาธิปไตย ดังที่ว่า “ไอ้คนตัดหญ้าเนี่ยมันรู้เรื่องไหม ชาวนามันรู้เรื่องกี่คน ถามว่ารู้เรื่องประชาธิปไตยไหม”

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนคนไทยได้ถูกกระทำย่ำยี ประชาชนถูกกล่าวหา ตีตรา และต้องแบกรับภาระในการแก้ปัญหา ทั้งที่สาเหตุมาจากโครงสร้าง กฎเกณฑ์ และกติกา ที่รัฐบาลและ คสช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

6.เสียสวัสดิการและคุณภาพชีวิต

ประชาชนต้องจับตากับการเปลี่ยนแปลงในระบบสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาพยาบาลและการศึกษา

ระบบสวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้าในประเทศไทยได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 จนกระทั่งครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมดของประเทศ

แต่รัฐบาลคสช.กลับมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าไปเป็นสวัสดิการแบบสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม ด้วยความพยายามในการตัดสิทธิของประชาชน ในการศึกษา 12 ปี (จนถึง ม.6 หรือ ปวช.) ตามรัฐธรรมนูญ ลงเหลือแค่การศึกษาภาคบังคับ แล้วไป เพิ่มกองทุนการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์แทน

เช่นเดียวกับเรื่องการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลพยายาม จะจำกัดงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ รวมถึงพยายาม จะเปลี่ยนแนวคิดและถ้อยคำที่มีการรับรองสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพทัดเทียมกันออกไปจากรัฐธรรมนูญ

7.เสียโอกาสการสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาชายแดนใต้

แม้หัวหน้า คสช. ประกาศจะ “ขจัดความเลวร้ายต่างๆ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ภายใน 6 เดือน อีกทั้งยังได้แต่งตั้ง ครม. ส่วนหน้าเป็นตัวแทนพิเศษของรัฐบาลมา แก้ปัญหา แต่สถานการณ์ความรุนแรง และปัญหาชายแดนใต้ก็ไม่ได้คลี่คลายลง เนื่องจากภายใต้ระบอบ คสช. แนวทาง “การทหาร” ถูกนำมาใช้เหนือแนวทาง “การเมือง” โดยปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและสิทธิพลเมือง มีการเหวี่ยงแห เหมารวม และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ขณะที่ปฏิบัติการทางการเมืองยังมีข้อกังขาว่าไม่มีความจริงใจ เป็นเพียงการสร้างภาพ ปล่อยให้มีปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าว (ไอโอ) โจมตีนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและมีการขู่จะใช้มาตรการทางกฎหมายกับนักสิทธิมนุษยชนที่เปิดเผยเรื่องการซ้อมทรมานด้วยในกระบวนการรีดข้อมูลด้วย

นอกจากนี้ ในยุคคสช. อุดมการณ์ชาติ นิยมแบบแข็งตัวถูกตอกย้ำและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น แม้คสช.จะสานต่อการพูดคุยสันติภาพ แต่ก็ดำเนินการได้จำกัดอย่างมาก เนื่องจากวางอยู่บนฐานคิดแบบชาตินิยม ส่งผลทำให้รัฐไทยกลายเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการเจรจาแต่เพียงฝ่ายเดียว บนฐานของความหวาดกลัวและหวาดระแวงต่อองค์กรและกฎกติการะหว่างประเทศ จึงไม่สามารถรวมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกระบวนการเจรจาได้อย่างเต็มใจ

8.เสียระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ

คสช.ใช้งบประมาณจำนวนมากโดยที่สังคมมีข้อกังขาว่าไม่โปร่งใส ไม่จำเป็นและไม่คุ้มประโยชน์ เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนสามลำรวม 36,000 ล้านบาท ที่จะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ในอ่าวไทยที่มีความลึกเฉลี่ยเพียง 44 เมตร ขณะที่ความลึกที่เหมาะสมสำหรับเรือดำน้ำรุ่นนี้คือ 60 เมตร

ส่วนการอ้างว่า สามารถใช้สำรวจทรัพยากรทางทะเลได้ ก็ไม่จริง เพราะลักษณะการใช้งานและการติดอุปกรณ์เป็นคนละประเภท หากจะมีเรือเพื่อสำรวจทรัพยากรก็ควรซื้อเรือสำรวจทรัพยากร ใต้น้ำแทน และราคาถูกกว่าด้วย

ที่ผ่านมายังมีบทเรียนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพ กองทัพใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างขาดความโปร่งใสและไร้ประสิทธิภาพ ปราศจากกลไกใน การตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง กองทัพจำเป็น จะต้องถูกตรวจสอบการใช้งบประมาณ เช่นเดียวกับหน่วยราชการอื่นๆ

9.เสียหน้าในประชาคมโลก

รัฐบาล คสช. กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบในเวทีระหว่างประเทศตลอด อาทิ รัฐบาลสหรัฐ และสหภาพยุโรปประณามการรัฐประหาร และเรียกร้องให้ คสช. คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยเร็ว

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชา ชาติ (UNHCR) สหภาพยุโรป องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ฮิวแมนไรต์วอตช์, คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งเอเชีย ฯลฯ ประณามการจับกุมและคุกคามนักศึกษา และนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย การใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือน การใช้กฎอัยการศึกและมาตรา 44 ของคสช. และการใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวาง

นายเดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ที่ดูแลกิจการด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกวิจารณ์กรณี สนช. มีมติให้ฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีจำนำข้าวและคอร์รัปชั่นว่า กระบวนการทางการเมืองที่ดำรงอยู่ไม่ได้เป็นตัวแทนของทุกฝ่ายในสังคม

กรณีจับกุมคุมขัง “ไผ่ ดาวดิน” (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) และปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่งผลให้ ฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกแถลงการณ์ว่าเป็น สิ่งที่ไม่ชอบธรรม

ล่าสุดคณะกรรมการรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ได้มอบรางวัลประจำปี พ.ศ.2560 ให้แก่ไผ่ ในฐานะผู้ต่อสู้และปกป้องประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน

10.เสียความทรงจำ

บ่อยครั้งที่อดีตบางอย่างถูกรัฐขีดฆ่าและลบออกไปจากความทรงจำของสาธารณะ และในขณะเดียวกันก็มักมีประวัติศาสตร์ ชุดใหม่ที่เพิ่งสร้างเข้ามาแทนที่ เวลาผ่านไปกว่า 8 ทศวรรษ ยังคงมีความพยายามล้มล้างบทบาทการปฏิวัติของคณะราษฎร 2475 ก็ยังคงอยู่

ในสังคมเผด็จการ การต่อต้านการลบล้างอดีตเกิดขึ้นได้ยาก เพราะนอกจากผู้คนจำนวนมากจะหันหลังให้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว

รัฐบาลยังปราบปรามผู้มีความคิดเห็นต่างอย่างรุนแรง พร้อมกับผูกขาดประวัติ ศาสตร์และฉกชิงประวัติศาสตร์ให้มาอยู่ข้างตนเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน