ก่อนและหลังยุบพรรค : บทบรรณาธิการ

ทุกครั้งที่พรรคการเมืองถูกยุบ สถานการณ์ทั้งก่อนและหลัง มักบ่งบอกถึงความไม่ปกติในสังคม และสิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือความขัดแย้ง

เนื่องจากพรรคการเมืองมีสมาชิกที่เป็นผู้แทน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

การที่พรรคการเมืองถูกยุบ หรือคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จึงเชื่อมโยงและกระทบไปถึงประชาชนที่สนับสนุน

เพราะการที่พรรคการเมืองเลือกบุคคลหรือพรรคนั้นๆ เข้ามาย่อมต้องการให้เป็นปากเป็นเสียง และมีอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่าย รัฐบาล

นับจากเหตุรัฐประหาร 2549 พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน เป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดที่ถูกยุบ เมื่อปี 2549 และ 2551 ท่ามกลางสถานการณ์ความแตกแยกในสังคมและการเมืองทั้งก่อนและหลังที่ถูกยุบ

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบในช่วงที่สังคมมีความขัดแย้งสูงอยู่เช่นเดิม แต่ชัดเจนขึ้นในด้านความคิดและอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย รวมถึงการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่

พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ถูกยุบในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล แต่เป็นฝ่ายค้านที่นำเสนอนโยบายและแนวทางต่อต้านการรัฐประหาร และตรวจสอบกองทัพอย่างเข้มข้น

จุดร่วมที่คล้ายคลึงกันระหว่างการถูกยุบพรรคในสองช่วงเวลาที่ห่างกันกว่าสิบปี ก็คือพรรคตัวแทนของประชาชน ที่ถูกตราว่าเป็นอริกับฝ่ายชนชั้นนำและอนุรักษนิยม

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลชาติประชาธิปไตยที่มีต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่จึงบ่งบอกถึงความไม่สบายใจ และวิตกกังวลผลกระทบต่อสังคมไทย

ไม่ใช่เพราะพรรคอนาคตใหม่เป็นที่รวมของสมาชิกที่มีแนวคิดเสรีนิยม แต่เพราะพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวแทนของประชาชน เหมือนกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

สถานการณ์ที่แทรกเข้ามาและน่าวิตกกว่าเมื่อสิบปีก่อนก็คือปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักและเหลื่อมล้ำ กว่าเดิม ต้องอาศัยการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีความปรองดอง และได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างสูง

ลำพังการพูดว่าให้คนไทยรักกันจึงไม่ช่วยผ่าทางตัน หรือเยียวยาเสียงประชาชน ที่ถูกกระทบกระเทือนได้แต่อย่างใดเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน