จากโรคโควิด-19

ถึงแฟลชม็อบน.ศ.

จากโรคโควิด-19 ถึงแฟลชม็อบน.ศ.ได้โอกาสแตะเบรกการเมืองชั่วคราว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขอโฟกัสไปยังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาเร่งด่วนกว่า

ตอนช่วงปลายเดือนม.ค. ยังเรียกกันว่า “ไข้อู่ฮั่น” พล.อ.ประยุทธ์ แถลงการณ์ประกาศความพร้อมรับมือโรคด้วยระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย ที่ติดอันดับ 6 ของโลก มั่นใจคุมสถานการณ์ได้ 100%

ผ่านไปเดือนเศษเข้าสู่เดือนมี.ค. ความมั่นใจน่าจะหายเกินครึ่ง

หลังมีชายไทยอายุ 35 ปี เสียชีวิตเพราะโรคโควิด-19 รายแรกของประเทศ ขณะที่สถานการณ์โดยรวม ปัจจุบันไทยมียอดผู้ป่วยสะสม 48 ราย อาการหนัก 1 ราย

ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลก กินพื้นที่เกือบ 90 ประเทศ ถ้านับ เป็นตัวเลขกลมๆ มีผู้เสียชีวิตแล้วเกิน 3,300 ราย ติดเชื้ออีกเกือบ 1 แสนราย เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

คำนวณไม่ออกจะผ่านจุดพีกเมื่อไหร่

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์บางคนประเมินว่า มนุษย์โลกอาจต้องใช้ชีวิต ภายใต้หน้ากากอนามัย ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปถึงอย่างน้อยกลางปี แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจยืดเยื้อไปถึงปลายปี

ล่าสุดรัฐบาลไทย ยังต้องรับมือกับ “ผีน้อย” แรงงานไทยผิดกฎหมายที่ทยอยเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ กว่า 5 พันคน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศรายงานตัวเลขแรงงานไทยในเกาหลีใต้ทั้งผิดกฎหมายและ ถูกกฎหมาย ว่ามีอยู่ราว 2 แสนกว่าคน

ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการรับมือผีน้อย ที่กลับมาแล้ว แยกย้ายกระจัดกระจายเดินทางไปตามภูมิลำเนาในต่างจังหวัด แม้กระทั่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ สร้างความแตกตื่นโกลาหลให้กับประชาชนทั่วประเทศ

ไม่รวมถึงกรณีการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ที่ปัญหาลุกลามไปถึงขั้นที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนต่างก็ไม่มีให้ใส่ เนื่องจากมีการกักตุน โก่งราคาจากนักฉวยโอกาส

หากินบนความเดือดร้อนของประชาชน

เรื่องหน้ากากอนามัยกว่ารัฐบาลจะตั้งหลักได้ก็เสียคะแนนไปบาน

ทำนองเดียวกับการประกาศกำหนดประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตรายโควิด-19 ที่ชักเข้าชักออก จาก 9 ประเทศ เหลือ 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน(รวมมาเก๊า ฮ่องกง) อิตาลี และอิหร่าน

ศุกร์ที่ผ่านมา ยังมีการเปิดศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์

วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการตามที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

หลักๆ มีตั้งแต่ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระเงินต้น ขยายเวลาผ่อนชำระ หนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลากู้เงินระยะยาว ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับนายจ้างและลูกจ้างเพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนหมุนเวียน

ยังมีมาตรการลดภาษี เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แลกกับการจ้างงานลูกจ้างต่อไม่ให้ตกงาน ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนนายจ้างและลูกจ้าง เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้รวดเร็วขึ้น ฯลฯ เป็นต้น

แต่ที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

คือมาตรการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรและอาชีพอิสระ จำนวน 2 พันบาทต่อราย ทยอยจ่ายเดือนละ 1 พันบาท ตั้งแต่เม.ย.และพ.ค. ผ่านระบบพร้อมเพย์ ให้ประชาชนที่ได้รับตามเกณฑ์กดเงินสดนำไปใช้จ่าย

รายงานข่าวระบุ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อาจต้องใช้เงินสำหรับมาตรการดังกล่าวกว่า 1 แสนล้านบาท

รัฐบาลยืนยันเหตุผลความจำเป็น ต้องเร่งออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจทุกด้านเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงทั่วโลก แม้ยังไม่เลวร้ายขั้นสูงสุด แต่ผลกระทบก็ขยายวงกว้างถึงภาคการท่องเที่ยวของไทย ไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งภาคการผลิต และบริการ

สำหรับมาตรการชุดที่ 1 ที่ออกมา เป็นมาตรการชั่วคราวในช่วง 2 เดือน จากนั้นจะมีการประเมิน หากจำเป็นก็จะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาต่อเนื่อง

รัฐบาลยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ขยายความรุนแรงมากขึ้น เดิมคาดว่าจะจบใน 3 เดือน และใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3 เดือน จากนี้ต้องมาประเมินใหม่ เบื้องต้นคาดว่าสถานการณ์จะจบภายใน 6 เดือน และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี

“ขอให้แยกแยะให้ออก ถ้าโจมตีทุกเรื่องมันก็ไปกันไม่ได้ ขอให้เข้าใจมาตรการระยะสั้นแค่ 2 เดือนเอง ไม่ใช่แจกไปเรื่อยเปื่อย และไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ดีแต่ แจกเงิน ช่วงนี้เราต้องเห็นใจผู้มีรายได้น้อยด้วยเพราะ เขาไม่มีรายได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการข้างล่าง ผู้ค้าขาย ร้านเล็กๆ ที่ขายอาหาร กลุ่มพวกนี้เราต้องดูนอกเหนือจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าว

อย่างที่บอก มาตรการทุ่มงบแสนล้านสู้วิกฤตโควิด-19 มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

กลุ่มไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นมาตรการที่ไม่น่าจะได้ผลในการสร้างงาน เพราะเป็นเงินแจกชั่วคราวระยะสั้น ไม่ช่วยในการใช้จ่าย เพราะเงิน 1-2 พันบาทที่ได้รับแจก ไม่ช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงในรายได้

ปีที่แล้วทั้งปียังไม่มีเรื่องโควิด-19 รัฐบาลใช้มาตรการแจกเงินอย่างเข้มข้น

แต่ผลด้านกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม จีดีพีลดต่ำลงเรื่อยๆ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ฟ้องว่ามาตรการที่แจกเงินเรื่อยมาทั้งปี เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เหมือนตำ น้ำพริกละลายแม่น้ำ

ในจังหวะสถานการณ์การเมืองร้อนแรง หลังการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ อันเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย นำมาสู่การชุมนุมแฟลชม็อบของกลุ่มนิสิต นักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัย ลงไปถึงระดับวิทยาเขต ขยายวงทั่วประเทศเหมือนไฟลามทุ่ง

เสียงเรียกร้องให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทดแทนฉบับปี 2560 กลาย เป็นจุดยืนร่วมของนิสิต นักศึกษา นักวิชาการและประชาชนคนทั่วไปที่ ฝักใฝ่ประชาธิปไตย

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) มีนายอนุสรณ์ อุณโณ เป็นประธาน เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ยื่นต่อประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญเพื่อแสดงเจตจำนงให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม

เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 วางกลไกสืบทอดอำนาจเอาไว้อย่างแน่นหนา เช่น เปิดทางให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง การมีส.ว.ชุดพิเศษ 250 คน มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ

ผนวกกับระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวที่ลดทอนและบิดเบือนเสียงประชาชน การเปลี่ยนสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. เพื่อเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจเป็นไปโดยสะดวก ดังนั้น หนทางที่จะล้มระบอบคสช. พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย หลีกเลี่ยง ไม่ได้ที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

นอกจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา การปรับครม.หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นอีกประเด็นที่กำลังร้อนแรง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ พยายามใช้เรื่องไวรัสโควิด-19 เข้ามาเบรกกระแสกดดันทางการเมือง แต่ก็ดูเหมือนช่วยไม่ได้เสีย เท่าไหร่

ท่ามกลางโควิด-19 กับแฟลชม็อบนักศึกษารุมขนาบพร้อมกัน เป็นบททดสอบครั้งสำคัญ เดิมพันสูงสุด

รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงฝีมือสุดชีวิต ไม่เช่นนั้นอยู่ต่อได้ยากแน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน