เงินกู้วิกฤต

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เงินกู้วิกฤต กระทรวงการคลัง โดยธนาคารกรุงไทย นัดจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วันที่ 8 เม.ย.นี้เป็นวันแรก

กลุ่มคนที่จะได้รับเงินกลุ่มนี้คือผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com มีคุณสมบัติตรงเงื่อนไขถูกต้อง

ได้แก่ 1.ต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอิสระ 2.ต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และ 3.สามารถยืนยันได้ว่ารับผลกระทบจากโควิดอย่างไร จะต้องเป็นผลกระทบต่อรายได้ที่เป็นตัวเงิน

ระยะเริ่มต้นนี้กระทรวงการคลังแจ้งว่าจะมีเป็นหลักแสนราย หลากหลายอาชีพ เช่น คนขายลอตเตอรี่ พนักงานขับแท็กซี่ มอเตอรไซค์รับจ้าง มัคคุเทศก์ และอื่นๆ

พิจารณาจากผู้มีข้อมูลที่ชัดเจนและเดือดร้อนจริง

สําหรับการตรวจสอบผู้มีคุณสมบัติต่อไป กระทรวงการคลังระบุว่า จะทำได้ลุล่วงอีกวันที่ 9-10 เม.ย. โดยเมื่อตรวจสอบเสร็จ จะจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้อีกชุดใหญ่เป็นหลักล้าน ในจำนวนนี้จะครอบคลุมอาชีพอิสระ ค้าขาย และอื่นๆ

ขณะนี้การจ่ายเงินจะดำเนินไปเรื่อยๆ เพราะกระทรวงการคลังไม่ได้กำหนดโควตา เพราะการลงทะเบียนยังไม่สิ้นสุด

ทั้งหมดระบุว่าขึ้นอยู่กับข้อมูลการตรวจสอบ ฉะนั้นจึงไม่ใช่การจ่ายแบบล็อตเดียวรอบเดียวในเดือนเมษายน

ความช่วยเหลือดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวิกฤตการณ์นี้คาดว่าจะกินเวลายาวนาน และต้องใช้เงินมหาศาล

คำถามถัดมาคือรัฐบาลจะหาเงินเหล่านี้มาจากที่ใด

เงินก้อนใหญ่ที่รัฐบาลระบุแล้วมาจากการโอนงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ และออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง

วงเงินมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพี หรือราว 1.68 ล้านล้านบาท

ส่วนเงินส่วนย่อยที่หลายคนพยายามสละเพื่อแสดงสปิริต ได้แก่ เงินเดือนส่วนตัวของบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมือง คล้ายกับที่บริษัทเอกชนพยายามบริหารจัดการดึงรายได้ของผู้บริหารมาช่วยสถานการณ์ของบริษัทเพื่อพยุงพนักงานอื่นๆ

ในส่วนการเมือง ประชาชนจึงเริ่มอยากเห็นสมาชิกวุฒิสภา 500 ท่านที่มาจากการแต่งตั้งและมิได้ทำหน้าที่ในช่วงเวลานี้ แต่มีเงินเดือนหลักแสน แสดงสปิริตเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน