ซื้ออาวุธสหรัฐ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ซื้ออาวุธสหรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาด้านกองทัพดำเนินมาช้านาน รวมถึงเรื่องการซื้ออาวุธในยุคปัจจุบัน ชัดเจนมาตั้งแต่สมัย รัฐบาลคสช.

แม้ว่ารัฐบาลคสช.จะมาจากการรัฐประหาร แต่รัฐบาลที่สนับสนุนประชาธิปไตยอนุญาตให้ไทยซื้ออาวุธจากสหรัฐได้ตั้งแต่ปี 2560 ตั้งแต่ผู้นำสหรัฐเปิดทำเนียบขาวต้อนรับหัวหน้าคสช.

โครงการจัดซื้อจัดจ้างยานเกราะพร้อมอาวุธจากสหรัฐของกองทัพบก มูลค่า 4,515 ล้านบาท เป็นผลมาจากสัมพันธ์ชื่นมื่นดังกล่าว

แต่มาอัพเดตข้อมูลตรงกับช่วงประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19

กองทัพบกชี้แจงถึงกรณีจัดซื้อยานเกราะล้อยาง หรือสไตรเกอร์ อยู่ในกลุ่มของโครงการงบประมาณผูกพันข้ามปีคือปี 2563-2565 จัดซื้อ จัดจ้างในรูปแบบ “โครงการความช่วยเหลือ ทางทหาร” ระหว่างกองทัพบกของสองประเทศ

ประกอบด้วยยานเกราะล้อยาง 100 กว่าคัน รวมถึง รถติดปืนค. 120 ม.ม. รถพยาบาล รถ ผู้บังคับบัญชา รถโดยลาดตระเวน การจัดชุดครูฝึกสอน มอบชิ้นส่วนอะไหล่ การซ่อมบำรุง การฝึกศึกษาในต่างประเทศ และการสร้างอาคารโรงซ่อมที่ได้มาตรฐานสูง

ไม่เท่านั้น กองทัพบกไทยยังได้รับ การช่วยเหลือเรื่องระบบกระสุนจากสหรัฐ มูลค่า 6 แสนดอลลาร์ (ราว 19.2 ล้านบาท) อีกทั้งกองทัพบกสหรัฐยังอนุญาตให้ ใช้เครื่องบินนำนักเรียนทุนกลับมาประเทศ ไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

คุณงามความดีของโครงการจัดซื้อดังกล่าวตามคำชี้แจงของกองทัพบก อาจดูเหมือนคุ้มค่าสมราคากับการดำรงตนเป็นพันธมิตรใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนทุกช่วงเวลา ไม่เว้นแม้แต่ช่วงรัฐประหาร

เมื่อรวมกับที่กระทรวงกลาโหมแจงการปรับลดงบประมาณจากหน่วยงานในสังกัด 7 หน่วยงาน รวมถึงเหล่าทัพ ปันเงิน 18,000 ล้านบาทไปใช้ กู้วิกฤตโควิด-19 ในรูปแบบของพ.ร.บ.การโอนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม น่าจะเป็นเรื่องที่ประชาชนยินดี

แต่ถ้าฟังเสียงและดูปฏิกิริยาให้ชัด กลับพบในทิศทางตรงกันข้าม เพราะเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ได้ผ่านการรับทราบหรือเห็นชอบจากประชาชนตั้งแต่แรก

ถ้าไม่ต้องการให้ประชาชนรู้สึกเช่นนี้ ต่อไป ควรต้องสร้างกลไกจัดซื้อจัดจ้างอาวุธที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน