ภาพวาด ประยุทธ์

กับ กรณีของ น้องปลายฝน

สะท้อน ปัจจัยใด

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ภาพวาด ประยุทธ์ – จากกรณีของ“ป้าเพ็ญ” บานปลายกลายเป็นกรณี“น้องปลายฝน”

กรณีของ“ป้าเพ็ญ” สืบเนื่องจากปัญหาและผลสะเทือนของโครงการ“เราไม่ทิ้งกัน” เป้าหมายคือกระทรวงการคลัง

เมื่อถูกกีดกันจากกระทรวงการคลังจึงเป็นประเด็น

กรณีของ“น้องปลายฝน” มีจุดเริ่มจากการแพ้และคัดออกจากโครงการ“ไม่ทิ้งกัน”อันสะท้อนการ ไม่ไว้วางใจประชาชนของกระทรวงการคลัง

แต่ก็มีภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏขึ้น

ภาพวาดที่ยังไม่เรียบร้อยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำคัญอย่างยิ่ง

สำคัญไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความสามารถเฉพาะตัวของ“น้องปลายฝน”ที่แม้จะได้รับการศึกษาน้อยแต่มี “พรสวรรค์”อย่างเต็มเปี่ยมในการวาดภาพ

หากสะท้อนถึง“ความรับรู้”ของ “น้องปลายฝน”

“น้องปลายฝน” ก็เช่นเดียวกับ “ป้าเพ็ญ” ก็เช่นเดียวกับคนตกงานโดยอัตโนมัติหลังมาตรการ“เข้ม” ปิดเมือง ปิดงาน ปิดอาชีพ

มองทะลุจากมาตรการ “เข้ม” ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งหมดล้วนสะท้อนภาพลักษณ์แท้จริงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหมือนกับว่าภาวะฉุกเฉิน และมาตรการ “เข้ม”ในการปิดเมืองจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล และของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากฟังจากกองเชียร์ หากฟังจากแฟนานุแฟน

แต่หากฟังจากเสียงของ“ชาวบ้าน”ที่เดือดร้อน หากฟังจากคนที่เข้าแถวยาวเหยียดหลายกิโลเมตร ไม่ว่าที่เชียงใหม่ ไม่ว่าที่ย่านถนนเพชรเกษม

ความหงุดหงิดรวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากกรณี“ป้าเพ็ญ”ไปยังกรณี“น้องปลายฝน”จึงเป็น “พัฒนาการ”

เป็นพัฒนาการต่อมาตรการ“เข้ม”ของรัฐบาล เป็นพัฒนาการจากชุมนุมหน้ากระทรวงการคลังเป็นการตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ฆ่าตัวตายพร้อมกับภาพวาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน