คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังคงเป็นเรื่องน่าถกเถียงทั้งในแวดวงสถาปนิก วิศวกร และประชาชนทั่วไป

เพราะกรณีนี้จะมีผลยาวนานและกระทบต่อโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศ

เป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าสมัยที่มีการผลักดันให้มีร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ตามแผนงานสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงและระบบคมนาคมอื่นๆ ในรัฐบาลก่อน

เพราะเป็นลักษณะการใช้กฎหมายเหนือกฎหมาย

เหตุผลของการใช้ม.44 ในครั้งนี้ มีคำอธิบายว่า มาจากการติดขัดข้อกฎหมาย 5 ประเด็นหลักที่ทำให้โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไม่คืบหน้า หลังจากมีการเจรจามายาวนาน อย่างน้อยคืออายุของรัฐบาลชุดนี้

5 ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประเทศคู่ค้า แต่กลับมีคำถามสำคัญที่จะเป็นผลกระทบต่อฝ่ายตนเอง

โดยเฉพาะการกำหนดใช้ที่ดินสำหรับการเดินรถและการตั้งสถานีที่ต้องมีผังเมืองรองรับการขยายตัวของเมือง








Advertisement

ไปจนถึงความรับผิดชอบต่อโครงการซึ่งจำเป็นต้องมีความปลอดภัยสูง ตามวัตถุประสงค์ของข้อกฎหมายเดิมที่มีอยู่

การใช้กฎหมายที่ทรงอำนาจอย่างม.44 เพื่อผลักดันโครงการขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ยังทำให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายอื่นๆ ที่มุ่งให้การก่อสร้างมีความแข็งแกร่ง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ที่สำคัญคือการกำหนดเจ้าภาพที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการออกแบบ ก่อสร้างและตรวจสอบโครงการก่อสร้างนี้อย่างชัดเจน

การเว้นวรรคข้อกำหนดต่างๆ ที่มองว่าเป็นอุปสรรคด้วยม.44 นี้ ยังทำให้เกิดคำถามว่า ได้ก่อให้เกิดสิทธิสภาพนอก อาณาเขตด้วยหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน