โควิด-เศรษฐกิจ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

โควิด-เศรษฐกิจ – สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ไตรมาสแรกของปี 2563 ตามรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่เหนือความคาดหมาย

หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบระดับใหญ่ไปทั่วโลก สถิติและการคาดการณ์ต่างๆ ที่เคยบวกล้วนพลิกไปเป็นลบ ขึ้นอยู่กับว่าจะลบเพียงใด

ตัวเลขการขยายตัวติดลบที่ร้อยละ -1.8 ออกจะดีกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้

ส่วนแรงสั่นสะเทือนไปตลอดปี 2563 สภาพัฒน์ประเมินว่าจะติดลบที่ร้อยละ -5 ถึง -6

ตัวเลขนี้อาจติดลบ หรือตีกลับมาดีขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดว่าจะทยอยลดลงหรือมีระลอกใหม่

 








Advertisement

ปัจจัยที่การขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ปรับลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกหดตัว ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดการระบาดของโรคโควิด-19

การส่งออกปีนี้คาดว่าจะหดตัวลงที่ติดลบร้อยละ -8 การบริโภคภาคเอกชนลดลงติดลบร้อยละ -1.7 และการลงทุนเอกชนติดลบร้อยละ -2.1

สำหรับไทยจะเผชิญผลกระทบหนัก เนื่องจากรายได้ประจำปีมาจากการท่องเที่ยว ครองสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศถึงร้อยละ 17

ขณะที่ภาคท่องเที่ยวคือธุรกิจและบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด และชะงักงันมากที่สุด

นอกจากนี้ ปัจจัยจากภัยแล้งคือปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุปสรรคทางการเมืองและนโยบาย

 

สภาพัฒน์ตั้งความหวังไว้ว่าสถานการณ์หลังไตรมาสสองมีแนวโน้มทั้งสองทาง คือดีขึ้นและแย่ลง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19

หากโควิดลดการแพร่ระบาดลงได้ไม่เกินไตรมาสสองนี้ ประเทศต่างๆ เริ่มมีประสบการณ์การรับมือกับโรคมากขึ้น และทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมลงเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ สถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น

ยิ่งหากโรคไม่กลับมาระบาดอีกในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือปลายไตรมาสถึงต้นไตรมาสสี่ ผู้คนจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวได้

แต่หากสถานการณ์ผันไปอีกด้าน ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะจัดการโควิดและเศรษฐกิจในรูปแบบอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน