รำลึก10 ปี-พฤษภา’53

รายงานพิเศษ

หมายเหตุ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการชุมนุมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บุคคลที่เกี่ยวข้องและอยู่ในเหตุการณ์ ได้ร่วมรำลึกและทวงถามความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นต่อการสูญเสีย 99 ศพ รวมถึงมีผู้บาดเจ็บกว่า 2 พันคน จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อสิบปีก่อน

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

แกนนำ นปช.

รำลึก10 ปี-พฤษภา’53 – รายงานพิเศษ – 10 ปีแล้วที่การชุมนุมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ของนปช. จบลงด้วยความตาย หยดเลือด คราบน้ำตายังไม่เหือดหาย

เราถูกจัดวางบนหน้าประวัติศาสตร์ให้เป็นผู้แพ้ ตลอดทศวรรษ ที่ทุกกลไกอำนาจนิยมทุ่มสรรพกำลังเบียดขับให้พ้นจากพื้นที่ทางการเมืองของสังคมไทย แต่คนเสื้อแดงยังอยู่

เราอยู่ในฐานะผู้แพ้จริงหรือ

จุดยืนในการต่อสู้ หลักการที่ยึดกุมอย่างมั่นคง ข้อเรียกร้อง ที่ปรากฏชัดบนเวทีชุมนุม สาระทางการเมืองที่กู่ก้องมายาวนาน ถูกทำลายลงสิ้น ไม่ได้ยินผู้คนพูดถึงในปัจจุบันกระนั้นหรือ

เปล่าเลย…จุดยืนประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมทั้งที่มา เนื้อหา และการบังคับใช้ ต้องการเลือกตั้งเสรี โปร่งใส ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ไม่ยอมรับยุติธรรมสองมาตรฐาน ปฏิเสธอำนาจนอกระบบ ไม่สยบต่อเผด็จการอำนาจนิยม

สิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ ผู้มีบทบาททางการเมืองกลุ่มใหม่ๆ นิสิต นักศึกษา คนหนุ่มสาว ประชาชนผู้สนใจการเมืองมากมายมหาศาลต่างยังพูดถึงและต่อสู้ในจุดยืนและข้อเรียกร้องเดียวกัน

ต่างกับคนบางกลุ่ม พวกเขาต้องสถาปนาหลักการ ความเชื่อ และข้อเรียกร้องใหม่ตลอดเวลาเพื่อสนองรับวิถีเผด็จการ แม้กระทั่งถอดวางสถานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย สนับสนุนให้คนกลุ่มเดียวรัฐประหาร สร้างกติกาสูงสุดเพื่อสืบทอดอำนาจ นำพาบ้านเมืองไปด้วยกลไกตรวจสอบพิกลพิการเพียงใดก็รับได้

การเมืองใหม่แต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30 สภาประชาชน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต่อต้านเผด็จการรัฐสภา ไม่ยอมรับวุฒิสภาทาส ฯลฯ

วันนี้มีแต่ความว่างเปล่า หลายคนถึงกับอับอายที่จะพูดถึงมัน และตีบตันในการอธิบายทั้งในหลักการและรูปธรรม บางเรื่องต้องรับเอาไว้เสียเองทั้งที่เคยแสดงท่าทีเดียดฉันท์ เช่น การมีอยู่และบทบาทของวุฒิสภา 250 คนในปัจจุบัน

เราไม่ใช่ตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่ได้ชี้วัดด้วยสีเสื้อที่สวมใส่ แต่เราคือพลังของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีอำนาจนอกระบบใดๆ มาแอบแฝง แอบอ้าง เบียดบัง ทำลายสิ่งที่ถูกต้องเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกตน

ใครจะเข้าสู่อำนาจต้องผ่านการตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่ด้วยอิทธิพล เล่ห์กล และความอำมหิตโดยเครือข่ายผลประโยชน์ที่กดทับประชาชนโดยเฉพาะคนยากคนจนมายาวนาน

เมื่อเราคือสิ่งนี้จึงไม่มีวันหายไป การเข่นฆ่า ไล่ล่า จำขัง ไม่ได้ทำให้เราลดจำนวนลง เพราะเราเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

เรามีทั้งผู้เผชิญสถานการณ์เมื่อสิบปีที่แล้ว และผู้ไม่อยู่ในเหตุการณ์แต่รับรู้ เข้าใจ เห็นใจ หรือกระทั่งมิได้รู้สึกอันใดแต่ประสงค์จะนำพาสังคมไทยไปในทิศทางเดียวกัน

เราต้องแบกรับคำว่าพ่ายแพ้ที่ถูกเขียนขึ้นด้วยกระบอกปืนของ ผู้มีอำนาจ โดยมีหยดเลือดของพวกเราเป็นหยาดหมึก

แต่เราสร้างชัยชนะได้ด้วยอำนาจของตัวเองผ่านการเลือกตั้งตลอดมา

ใช่…กว่า 10 ปีแล้วที่เราชนะในวิถีทางประชาธิปไตยตลอดเวลา

นี่คือสิ่งที่เราต่อสู้ และนี่คือชัยชนะที่ได้มา แม้กระทั่งผู้เผด็จการ ก็ยังซุกตัวอยู่ใต้ความชอบธรรมนี้ โดยอ้างว่าก่อรัฐประหารเพื่อสร้างประชาธิปไตย

เรามิเคยต่อสู้เพื่อสร้างเผด็จการ พวกเขาต่างหากที่ต้องบดบังซากร่างที่แท้จริงของตนใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย แต่ชัยชนะของเราไม่ยั่งยืน มิอาจต้านอิทธิฤทธิ์มหาศาลของขบวนการอำนาจนิยม จนกว่าความหมายของคำว่า เรา จะขยายตัวและทรงพลังยิ่งกว่านี้

เรา ต้องหมายถึงประชาชนทั้งหมด แม้จะคิดแตกต่างหรือกระทั่งเกลียดชังกัน แต่เราต้องไม่เป็นท่อนฟืนของเปลวไฟเผด็จการ ไม่เป็นสะพานให้อำนาจนิยมเดินข้ามหัวไปแสวงหาผลประโยชน์ของชนชั้นพวกเขา

ผมเป็นแกนนำนปช.ที่ชีวิตยังผูกติดกับเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 มิใช่ด้วยความชิงชังคั่งแค้น แต่เป็นความรับผิดชอบในฐานะแกนนำที่ต้องแสวงหาความจริงและความยุติธรรมให้คนตาย อย่าได้กังวลว่าจะสร้างความแตกแยก เพราะความยุติธรรมเป็นบ่อเกิดแห่งสามัคคี และสามัคคีเท่านั้นที่จะสร้างอนาคตที่งดงามให้ประเทศชาติและประชาชน

10 ปีที่แล้วมีคนเกือบ 100 ชีวิตถูกยิงตายกลางถนน ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ไม่ควรมีใครต้องสูญเสีย เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พวกเขาตลอดมา ถึงเวลาจะอุทิศความยุติธรรมบ้างหรือยัง

ทุกประเทศดำรงอยู่ด้วยความหลากหลาย ไม่มีทางที่แนวคิดฝ่ายใดจะอยู่ลำพัง และไม่มีทางที่คนอีกฝ่ายจะสูญสลายหายไป

ผมพร้อมร่วมมือกับคนทุกกลุ่ม เพราะ “เรา” คือประชาชน

ป.ล. ถึงเพื่อนผู้เสียชีวิต เสียใจต่อชะตากรรมของเพื่อนเสมอ ขอโทษที่ยังทำทุกอย่างได้เท่านี้ แต่เราจะเดินหน้าต่อไป เขาจับคนฆ่า “พี่เตี้ย มช.” ได้แล้ว กำลังดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม

อดีตทนายความ ทักษิณ ชินวัตร

ในระหว่างช่วงปลายเดือนเม.ย. ถึงต้นเดือนพ.ค. 2553 ผมอยู่หลังซุ้มกีดขวางในถนนที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ ผู้ประท้วงเสื้อแดง ซึ่งเป็นเวลาผ่านมาทั้งหมด 66 วันแล้วที่กลุ่มชุมนุมปิดยึดพื้นที่ในส่วนกลางของกรุงเทพฯ และเป็นที่สนใจไปทั่วโลก

ผมได้ไปอยู่ในจุดนั้น เนื่องจากถูกส่งไปโดยอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นลูกค้าของผม ผู้ที่จ้างวานให้สำนักงานกฎหมายของผมคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายกับกลุ่มนปช. รวมถึงวานให้ช่วยเหลือหาหนทางด้านกฎหมายเพื่อจะปลดล็อกรัฐบาล เนื่องจากขณะนั้นประเทศกำลังตกอยู่ในกำมือรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม เข้ามาอยู่ในตำแหน่งโดยการร่วมมือกับศาลเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกของประชาชน

ในช่วงเวลาสำคัญนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ดุเดือดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะฝูงควันจากการยิงปืน รวมถึงเสียงปืน ดังลั่นตลอดทั้งคืน ผมยังจำทุกอย่างได้ดี

ผมอยู่ไม่ไกล เลยจากบริเวณที่มีพลทหารซุ่มยิงเสธ.แดง ในขณะที่เขากำลังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากนิวยอร์ก ไทม์อยู่ พวกทหารฆ่าช่างภาพจากสำนักข่าวรอยเตอร์ นาย ฟาบิโอ โพเลนกี้ อย่างเลือดเย็น และทหารยังฆ่าเด็กที่ไม่มีอาวุธ พยาบาล แม้กระทั่งคนที่หลบภัยอยู่ในวัด

พวกเราได้รับการแจ้งมาอย่างดีว่า รัฐบาลในขณะนั้นจะไม่ใช้ความรุนแรงกับเรา พร้อมสัญญาว่าหลังจากเหตุการณ์ประท้วงจบลง จะให้มีการจัดการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้โดยเพิกเฉยและไร้การตอบกลับจากรัฐบาล ทุกอย่างมันชัดเจนว่า มันไม่ใช่แค่การจะสลายการชุมนุม แต่มันคือการใช้ความรุนแรงกดปราบกลุ่มผู้ชุมนุมและเป็นการก่อการร้ายต่อประชาชนไทยโดยรัฐบาลเสียเอง

การปราบล้างจบลงวันที่ 19 เม.ย. โดยกลุ่มชายชุดดำใช้ปืนยาวซุ่มยิงมาจากบริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมกับมีรถถังและรถติดอาวุธเคลื่อนมายังบริเวณที่มีตั้งซุ้มปิดล้อม ผมโชคดีที่หลบหนีไปฮ่องกงได้ทัน

แต่มีอีกหลายคนที่โชคร้ายในวันนั้น มากกว่า 98 คน โดนสังหารด้วยน้ำมือของกองทหารไทย และมากกว่า 2 พันคนได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมนองเลือดนี้ โดยคำสั่งคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้น และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้สั่งงานปฏิบัติการทางทหารที่กลายมาเป็นคนทำรัฐประหารต่อมา

หลายครอบครัวต้องโศกเศร้ากับการตายของคนในครอบครัวที่ถูกทหารไทยพรากชีวิตไป แต่ทหารผู้เป็นคนฆ่าไม่มีใครถูกดำเนินคดี ความเจ็บปวดของครอบครัวเหยื่อและความทรงจำของพวกเขาไม่ได้หายไป แต่คนที่สั่งฆ่า คนที่สนับสนุนและคนที่ได้ผลประโยชน์จากการฆ่าคนในครั้งนี้ยังลอยนวล

สังคมการเมืองไทยยังมีอะไรให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อีกมากมาย เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และมันพิสูจน์ให้เห็นว่า มีคนหลายกลุ่มพร้อมปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายลงไป

หากคุณมองกลับไปถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยในตอนที่เราได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างประเทศของอเมริกา ซึ่งทำให้ไทยแบ่งแยกเป็น 2 ฝักฝ่าย จากการปราบปรามการประท้วงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2516 ปี 2519 และ ปี 2536 แม้กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ จากนโยบายของประธานาธิบดีโอบามา ที่หันกลับมาให้ความสนใจในเอเชีย เราจะเห็นได้ว่าสื่อต่างประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวรัฐประหารปี 2549 และปี 2552 เลย ยิ่งกว่านั้นการสังหารหมู่ปี 2553 ก็ไม่มี ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นการให้ความชอบธรรมและเข้าข้างกับฝ่ายเผด็จการ ทำไมเขาถึงได้คาดการณ์อะไรผิดๆ แบบนั้น

ข้อสรุปในความผิดพลาดครั้งนี้ คือการสูญเสียชีวิตผู้คน สูญเสียอาชีพ การถูกจับเข้าคุกและการสูญเสียสิทธิทางการเมืองของคนเป็นล้าน นำมาซึ่งการไร้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ

ในวันนี้ 10 ปีที่แล้วหลังจากการสังหารหมู่ เรายังต้องทำหน้าที่เพื่อระลึกถึงความสูญเสียต่อไป มันถือเป็นความรับผิดชอบของพวกเราที่จะเตือนพวกมีอำนาจให้รู้ว่า คนต้องไม่ตายฟรีและการกระทำของพวกทหารป่าเถื่อนจะถูกจดจำต่อไป อนาคตอยู่ในกำมือคนรุ่นใหม่ และเราหวังว่าความจริงนี้จะถูกเปิดเผยมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน