กลายเป็นข้อถกเถียงว่าร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ ร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ ได้มีการรับฟังความเห็น ตามมาตรา 77 แล้วหรือไม่

ฝ่ายรัฐบาลยืนยันได้รับฟังความเห็นแล้ว โดยอ้างมาตรา 77 ไม่ได้บังคับว่าการรับฟังความเห็นต้องเป็นการทำประชาพิจารณ์ หรือการทำประชามติ

การเปิดรับฟังความเห็นมีตั้งแต่การประชุม ทำแบบสอบถาม หรือลงเว็บไซต์ ขณะที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้เปิดเวทีสาธารณะ เพื่อให้เป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วถึง

ในความเห็นของนักวิชาการ มองอย่างไร

พัฒนะ เรือนใจดี
คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

ถือเป็นเรื่องดีที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศตามมาตรา 77 ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

แม้ในมาตรา 77 ไม่ได้กำหนดรูปแบบหรือวิธีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ แต่อยากให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้ และเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัติในการเปิดรับฟังในแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น

และเห็นว่าควรกำหนดประเด็นและหัวข้อต่างๆ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่จะไปเป็นวิทยากรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในร่างกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งควรมีการกำหนดปฏิทินหรือเงื่อนเวลาในการรับฟังให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่น่าเชื่อถือ








Advertisement

แต่หากไม่มีการกำหนดหัวข้อหรือเงื่อนเวลา อาจจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่เป็นแก่นสาร ท้ายที่สุดการเปิดรับฟังความคิดเห็นก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล

แม้รัฐบาลจะระบุว่ามาตรา 77 ไม่ได้กำหนดว่าภาครัฐต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบใด สิ่งที่รัฐบาลพูดนั้นถือว่าถูกเพียงครึ่งหนึ่ง

แต่ สนช.ก็ควรเร่งออกกฎ ระเบียบหรือกฎหมายรอง เพื่อมารองรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย

ส่วนจะเป็นรูปแบบใด อาทิ การจัดทำประชาพิจารณ์ การจัดทำประชามติ หรือแม้แต่การเรียกเชิญประชุมหรือกรอกแบบสอบถามนั้นไม่ติดใจในรายละเอียดของวิธีการ ขอเพียงแค่ให้การเปิดรับฟังความคิดเห็น เกิดเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจน ไม่จำกัดสิทธิประชาชน

ที่สำคัญเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานว่าการออกกฎหมายหลังจากนี้ จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบหรือลักษณะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่สำคัญ คือต้องกำหนดประเด็นการให้ความรู้แต่ละร่างกฎหมายให้ชัดเจน ว่าร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นอย่างไร ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ นั้นมุ่งเน้นการปฏิรูปอะไรบ้าง ประชาชนจะได้รับรู้ รับทราบและเข้าใจ และขอให้ดึงการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้ได้มากที่สุด

ส่วนตัวมองว่าอยากให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพสะ สนช.ดำเนินการออกกฎหมายแบบระยะสั้น อย่าร่างกฎหมายทีเดียวจบ แล้วรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เข้ามาสานต่อ เติมให้เต็ม

หากรัฐบาลชุดนี้ออกกฎหมายทีเดียวจนจบหมด ก็น่าคิดว่าแล้วรัฐบาลต่อไปจะทำอะไรได้อีกนอกจากการทำตามกรอบที่กำหนดเอาไว้แล้ว

จึงอยากให้ สนช.ทำเฉพาะระยะสั้น ส่วนระยะยาวก็ให้รัฐบาลเลือกตั้งเข้ามาดำเนินการต่อไป

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

กฎหมายเดิมไม่เคยมีในแง่ว่าออกกฎหมายออกมาแล้วต้องรับฟังความคิดเห็นหรือต้องทำประชาพิจารณ์ แต่ครั้งนี้เขียนไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายแต่ละฉบับถ้าจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ต้องรับฟังความคิดเห็น หรือต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน

ครั้งแรกที่ได้ยินและรับทราบก็รู้สึกว่าการจะมีกฎหมายฉบับใดออกมานั้นต้องทำประชาพิจารณ์ หรือเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นวุ่นวายไปหมดคิดว่าต่อไปนี้นักการเมืองจะออกกฎหมายกันง่ายๆไม่ได้แล้ว ต้องไปรับฟังความคิดเห็น มีการถกแถลงหรือมีการโต้แย้ง

แต่เมื่อฟังจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ก็ระบุว่าทำได้หลายทาง แค่เปิดเฟซบุ๊กให้คนออกมาแสดงความคิดเห็นก็ได้ ถือเป็นการรับฟังแล้ว

ไม่แน่ใจว่ามาตรฐานตามมาตรา 77 คืออะไร เพราะถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรหรือที่ใครออกมาพูดให้ชัดเจน รองรับว่าอะไรคือมาตรฐานที่จะยึดในหลักการของการดำเนินการ

เพราะฉะนั้นคนที่ทำแบบนั้นแบบนี้แล้วอ้างว่าได้ทำตามบทบัญญัติของกฎหมายในมาตราดังกล่าวแล้ว อ้างว่าได้รับฟังจากคนไม่รู้เท่าไรที่โทรศัพท์เข้ามา หรือไม่รู้ว่าคนมากเท่าไรที่ส่งจดหมายเข้ามา โดยเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐานได้ทั้งหมดถือว่าเป็นการผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว

เป็นความแตกต่างจากสิ่งที่เราคิดไว้ในช่วงต้นว่าขั้นตอนคงจะมีความยุ่งยาก ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ต้องออกไปรับฟังความคิดเห็น มีการประกาศไว้แน่นอนว่าเป็นวันที่เท่าไร เวลาอะไร แต่ไปๆมาๆ ในทางปฏิบัติตามที่นายวิษณุออกมาพูดว่าแค่ทำแบบง่ายๆก็ได้หรือ

คำถามวันนี้คืออะไรคือมาตรฐานของคำว่าผ่านการรับฟังแล้ว หรือผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว วันนี้ยังขาดคำว่ามาตรฐาน การที่คนแวะมาคุยด้วย 10-20 ราย ตัวแทนของหน่วยงานถือว่ากฎหมายผ่านการออกความเห็นนี้หรือยัง วันนี้ยังไม่มีมาตรฐานตรงนี้

เกณฑ์การรับฟังความเห็น ต้องรับฟังในกรอบเวลาเท่าไร ต้องมีการทำประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาให้เกิดความเข้าใจก่อนแล้วจะให้ความเห็นที่ถูกต้อง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็นกี่วัน วันนี้ยังไม่มีมาตรฐานอะไรตรงนี้ที่เป็นความชัดเจนเลย

วันนี้ปัญหาคือมันออกมาเป็นรัฐธรรมนูญแล้วแต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่มีใครชี้ได้ว่าอะไรคือมาตรฐาน วันนี้จึงมีการคิดและพูดว่าได้ว่าที่ทำแบบนี้เป็นการลักไก่หรือเปล่า อ้างว่ามีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว อีกฝ่ายก็แย้งว่ารับฟังอย่างไรเพราะยังไม่มีเหตุผลนั่น นี่ โน้น

ฝ่ายรัฐบาลที่ทำก็บอกว่าทำแล้ว มีจดหมายแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เปิดเฟซบุ๊กก็มีคนส่งข้อมูลความคิดเห็นเข้ามา ไม่ได้ปิดบังอะไร สุดท้ายก็จะเกิดความขัดแย้งกันเพราะขาดคำว่ามาตรฐานเพียงอย่างเดียว

การเสนอเนื้อหาฎหมายผ่านเว็บไซด์ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้เพราะคนทำถือว่าเป็นมาตรฐานของเขา ถามว่าในวันข้างหน้าถ้านักการเมืองทำแบบนี้บ้างจะถือว่าผ่านหรือไม่ นี่คือคำว่ามาตรฐาน ต้องหาให้ได้และหาให้เจอ

ส่วนพรรคการเมืองเสนอให้ทำเวทีสาธารณะ ส่วนตัวเห็นว่าจะเอาอย่างไรก็ต้องบอกกันมาให้เป็นทางการว่าอะไรคือมาตรฐานของกฎหมาย ในส่วนคำว่าการรับฟัง ถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรเลย

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

การรับฟังความเห็นเกี่ยวกับพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ ที่มีการถกเถียงกันว่าครอบคลุมแค่ไหนนั้น เท่าที่ฟัง สปท.ก็บอกว่าได้ร่างกฎหมายโดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว โดยระบุมีประชาชนร่วมแสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์หลายพันคน

แต่ก็มีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัย จะได้รู้กันว่าตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 ได้กำหนดเรื่องการรับฟังความเห็น กรอบการดำเนินการมีขอบเขตอยู่ตรงไหน เพื่อจะได้ทราบว่ามาตรฐานเป็นอย่างไร

ส่วนที่รัฐบาลระบุมาตรา 77 ไม่ได้สั่งให้ทำประชาพิจารณ์หรือทำประชามตินั้น ส่วนตัวตีความตามตัวอักษร หากระบุว่าให้ทั่วถึงครบถ้วนอย่างน้อยควรต้องพบปะพูดคุยกันบ้างก็ได้ เพื่อจะได้มีความเห็นออกมาให้มีนัยยะสำคัญของการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

แต่การที่สปท.บอกว่าเปิดให้ประชาชนได้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์แล้ว ส่วนตัวมองว่าไม่เพียงพอ เพราะถ้าให้พูดกันตามความจริงประชาชนจำนวนมากคงยังไม่ได้อ่าน หรือเห็นเนื้อหาในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ

การพิจารณาและผ่านกฎหมายทั้งสองฉบับมีความรีบร้อนเกินไป คำว่ายุทธศาสตร์ชาติหากเน้นคำว่า“ชาติ” ก็จะหมายถึงยุทธศาสตร์ของประชาชนเพื่อประชาชน นอกจากการรับฟังความเห็นข้างต้นแล้วต้องมีการพูดคุยกันผ่านสื่อว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เมื่อเกิดความเห็นพ้องก็จะนับว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่แท้จริง

ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้ เท่าที่ทำได้คงต้องพึ่งพระสยามเทวาธิราชอย่างเดียวว่าสิ่งที่กำหนดในกฎหมายจะถูกใจประชาชน เพราะเขียนไปแล้วและผ่านความเห็นชอบไปแล้ว

สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คงต้องช่วยกันประโคมข่าวเพื่อนำเสนอประเด็นหลายเรื่องที่อยู่ในกฎหมายให้ประชาชนได้รับรู้ เหมือนเป็นการช่วยประชาชนทำความเข้าใจในเนื้อหา อย่างน้อยก็ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

สดศรี สัตยธรรม
อดีต กกต.

กฎหมายก็ควรมีลักษณะที่ว่าถ้าจะออกมาแล้วไม่ควรมีการโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ เหมือนกรณีเดียวกับกฎหมายแรงงานต่างด้าวที่ออกเป็นพ.ร.ก.ซึ่งยังไม่ได้ฟังความความเห็นที่รอบด้าน แล้วต้องแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรา 44 มาแก้ไข

ส่วนเรื่องพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติและพ.ร.บ.ปฎิรูป การให้มีคณะกรรมการมาดูแลการทำงานของรัฐบาลถึง 20 ปี เรื่องที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็ควรจะทำประชามติหรือไม่ หรือจะทำในลักษณะเปิดกว้างให้กลุ่มต่างๆได้ออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์

หากรัฐบาลอยากทำให้เกิดความปรองดอง ความเรียบร้อยของประเทศ ก็ควรทำประชาพิจารณ์หรือประชามติ เพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนได้มีความคิดเห็นในเรื่องนั้นๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะถ้ารัฐบาลเห็นว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะทำให้เป็นผลดีกับประเทศต่อไปในอนาคต 20 ปี และน่าจะเป็นการผูกพันไม่ใช่แค่เจเนอเรชั่นเดียว แต่จะผูกพันชั่วลูกชั่วหลานต่อไปข้างหน้า ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนและจะดูสง่างามมากกว่า เพราะรัฐธรรมนูญก็ยังผ่านการทำประชามติ จึงน่าเชื่อว่าสิ่งที่ผ่านประชามติน่าจะปิดปากผู้ไม่เห็นด้วย

ดังนั้นที่รัฐบาลมองว่าการรับฟังความเห็นมีตั้งแต่ระดับ การเชิญประชุม กรอกแบบสอบถามและลงเว็บไซต์ ก็คงไม่ถูกต้องเพราะเรื่องนี้ผูกพัน 20 ปี ไม่ได้ผูกพันระยะสั้นๆ ถ้ารัฐบาลเชื่อว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นผลดีจริงก็ไม่นะจะกลัวอะไร ยิ่งผ่านประชามติก็เป็นการรับรองความสมบูรณ์มากกว่า

เชื่อว่าถ้าทำจริงๆ ก็ผ่านแน่นอน เพราะผลดีของกฎหมาย 2 ฉบับ ดูแล้วอาจก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย วันข้างหน้าอาจมีการปรองดองกันได้ ไม่มีการรัฐประการ เพราะมีทหารครึ่งค่อนกองทัพอยู่ในคณะกรรมการ และเป็นตำแหน่งที่ติดตัว เช่น ผบ.ทบ.หากพ้นตำแหน่งคนใหม่มาเป็น ก็ดำรงตำแหน่งต่อ

เห็นด้วยที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้มีการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็น และการทำประชามติดูสวยกว่าการมุบมิบกันทำ รัฐบาลควรให้ประชาชนรับรู้เรื่องนี้ เพราะขณะนี้คนไม่รู้ว่ามีกฎหมาย 2 ฉบับนี้เกิดขึ้น และการทำประชามติก็ใช้เงินไม่มาก ดีกว่าทำในลักษณะไปสอบถามคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ผลที่ออกมาก็จะมีลักษณะคล้ายกับการตีทะเบียนคนงานต่างด้าว

ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับกรณีต้องถามว่าเป็นการรีบด่วนหรือไม่ ถ้ารอรัฐบาลชุดหน้าได้หรือไม่ โดยให้มีการพิจารณาผ่านสภาก่อนออกเป็นกฎหมาย 2 ฉบับก็น่าจะเป็นเรื่องดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน