คอลัมน์ บทบรรณาธิการ : ฟื้นท่องเที่ยว

ฟื้นท่องเที่ยว – มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยมาตรการแรก “เราเที่ยวด้วยกัน” จะเริ่มให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์สำหรับท่องเที่ยว เช่น ส่วนลดที่พัก คูปองอาหาร เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ ตั้งแต่ วันที่ 15 ก.ค.นี้

รัฐบาลใช้วงเงินสำหรับมาตรการนี้ 20,000 ล้านบาท บวกกับโครงการกำลังใจ อำนวยความสะดวกให้อาสาสมัครเจ้าหน้าที่การแพทย์ไปท่องเที่ยวอีก 2,400 ล้านบาท

ด้วยความคาดหมายให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูจากช่วงล็อกดาวน์โควิด-19

การฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นหนทางสำคัญ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 20

คิดเป็นรายได้ราว 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้เที่ยวในประเทศกันเอง ราว 1 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกัน เสียงจากภาคเอกชนที่ดังก้องขึ้นมากขึ้นคือ การเรียกร้องให้มีมาตรการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศด้วยวิธีจับคู่ประเทศที่ปลอดภัย หรือทราเวล บับเบิล เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมสำหรับการฟื้นฟูอย่างกว้างขวางและรวดเร็วขึ้น

หลังตัวเลขที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 ว่าจะหายไป 2.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของจีดีพี

คำนวณจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเหลือไม่ถึง 8.2 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ถึง ร้อยละ 79 ที่เคยมี 39.7 ล้านคน

การหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่สูงมากเกิน 7 ล้านคน

หากแผนหรือมาตรการฟื้นฟูที่ออกมาสร้างผลไม่มากพอ โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งบริการต่างๆ ธุรกิจการขนส่ง อาจทยอยปิดตัวลงไปเรื่อยๆ

สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวคือความกังวลว่า โควิดจะกลับมาระบาดอีก จนทำให้ลังเลสองจิตสองใจ

แต่สุดท้ายแล้วการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้

การตัดสินใจเรื่องนี้ของรัฐบาลไม่ใช่การเดิมพัน แต่เป็นการเตรียมแผนและความพร้อมรับมือผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่จะไม่ให้สังคมตื่นตระหนก

การใช้กฎหมายควบคุมเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานสะดวกขึ้น ปลอดโปร่งขึ้น แต่ประชาชนจำนวนมากอยู่ยาก อาจต้องเปลี่ยนไปสู่วิถีที่ทั้งสองฝ่ายต้องเหนื่อยและทำงานหนักพอๆ กัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน