3 ข้อเรียกร้อง – การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชนเมื่อสุดสัปดาห์ทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ และบริเวณประตูข่วงท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการแสดงออกที่สะท้อนถึงปัญหาบ้านเมืองที่เกี่ยวเนื่องกัน

รวมถึงความอึดอัดในสถานการณ์โรคโควิด-19 การใช้กฎหมายที่เป็นยาแรง โดยเฉพาะพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับควบคุมสถานการณ์โรคระบาด แต่กลับมีผลข้างเคียงครอบคลุมโดยตรงถึงการชุมนุม

จนเกิดเสียงวิจารณ์ที่คาดคะเนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้อาจต่ออายุไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำกัด

แม้รัฐบาลระบุมาหลายครั้งว่าไม่ได้มีนโยบายที่จะควบคุมการแสดงออกของประชาชน แต่สภาพความเป็นจริงที่เจ้าหน้าที่รัฐไล่ดำเนินคดีกับประชาชนที่กล้าแสดงออก กลับเป็นอีกเรื่อง

คล้ายเบื้องหน้าอย่าง แต่เบื้องหลังอีกอย่าง

การกลับมาชุมนุมแสดงออกของกลุ่มเยาวชนครั้งนี้ชัดเจนว่าเกี่ยวเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจใหญ่หลวงจากการใช้มาตรการคุมเข้ม แต่กลับเข้มไม่เท่ากัน จนเผยให้เห็นข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อความผิดพลาดดังกล่าวไปตอกย้ำความรู้สึกคับข้องใจเดิม ว่ากฎกติกาต่างๆ ที่เอื้อให้รัฐได้ประโยชน์ มีกลไกควบคุมให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานสะดวก วิตกกังวลน้อย กลับผลักภาระและผลกระทบด้านลบต่อประชาชนส่วนใหญ่

การเคลื่อนไหวนี้จึงร้องขอให้มีกติกาใหม่

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ที่ให้เวลารัฐบาลคิดสองสัปดาห์ ได้แก่ หนึ่ง หยุดคุกคามประชาชน สอง ยุบสภา และสาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หากรัฐบาลไม่นำข้อเรียกร้องไปพิจารณา เพราะเห็นเยาวชนที่เคลื่อนไหวเป็นคนกลุ่มเล็กๆ หรืออ้างว่ามีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง จะเป็นเรื่องที่น่าวิตกยิ่ง

เพราะก่อนการชุมนุมเกิดขึ้น มีข้อกังขามากมายเกี่ยวกับกติกาและกฎระเบียบที่ผุดขึ้นมาหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ด้วยข้ออ้างว่าต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ

นับจากนั้นมายังคงเกิดข้อสงสัยมากมายต่อกลไกทางการเมืองหลายๆ ด้าน ไม่ว่าการตั้งส.ว. 250 คนให้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

จนมาถึงการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งสมาชิกจำนวนมากไม่นิยมแนวทางประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน