แป้งและยาชา : บทบรรณาธิการ

กรณีอื้อฉาวที่ก่อปฏิกิริยาทางสังคมไทยเป็นพิเศษช่วงเวลานี้เป็นเรื่องที่มียาเสพติดร่วมเป็นประเด็น

นับจาก “มันคือแป้ง” จนมาถึง “สารโคเคนเป็นยาชา” ทั้งสองเรื่องนี้ไม่เพียงสร้างความขบขัน ยังเป็นมุขเย้ยหยันกระบวนการยุติธรรมด้วย

แม้จะมีความพยายามอธิบายรายละเอียดที่มาที่ไปของ “แป้ง” และ “ยาชา” แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความเชื่อถือใดๆ จากสังคม

โดยเฉพาะเมื่อกรณีแรกมีบันทึกข้อมูลรายละเอียดคดีที่ศาลต่างแดน และกรณีหลังมีผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมมาให้ข้อมูล

ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกคับข้องใจ และไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งยังส่งผลกระทบไปถึงรัฐบาลด้วย

คดีบอส อยู่วิทยา ต้องสงสัยขับรถชนนายตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 เริ่มต้นเป็นคดีตัวบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐบาล

แต่หลังจาก 8 ปีที่ผู้ต้องสงสัยไม่มารายงานตัวตามหมายจับ ได้แต่อยู่ต่างประเทศมาโดยตลอด สุดท้ายคดีพลิกผันว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา สายตาของคนในสังคมก็เริ่มจับจ้องไปที่รัฐบาล

ความอึดอัดคับข้องใจจากคดีทางการเมืองหลายคดี รวมถึงคดีแป้ง ทำให้รัฐบาลถูกกระแสสังคมไม่พอใจไปด้วย

กลายเป็นข้อสงสัยเรื่องระบบอุปถัมภ์ค้ำชูว่ามีส่วนหรือไม่กับกระบวนการที่ทำให้คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานในทางยืนยันการกระทำความผิด และไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้อัยการสั่งฟ้อง

ดังนั้นแม้รัฐบาลอยากเลี่ยงความเกี่ยวข้องก็เลี่ยงไม่พ้น

แม้รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมาตรวจสอบรายละเอียดตามกรอบเวลา และคดีนี้ไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องต่อศาลเอง

รวมถึงการเปิดช่องว่าหากปรากฏพยานหลักฐานใหม่ พนักงานสอบสวนก็อาจรื้อฟื้นคดีมาสอบสวนได้

แต่เส้นทางที่คดีมาลงเอย ณ เวลานี้ทำให้คนรู้สึกว่าคงไม่มีทางที่เรื่องทำนองนั้นจะเกิดขึ้นได้

เพราะขนาดเวลาผ่านมา 8 ปี สำนวนคดียังไม่มีความชัดเจน ยังไม่รู้ว่าสารที่พบเป็นการใช้โคเคนร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือเกิดจากปฏิกิริยาของยาปฏิชีวนะ

กรณียาชาก็อาจซ้ำรอยเรื่องแป้งให้เป็นที่ขำขันและรันทดใจพอๆ กัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน