ช่วยเกษตรกร – กลุ่มผู้เดือดร้อนหนักอีกกลุ่มในวิกฤตผลกระทบโควิด-19 แต่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงนัก คือเกษตรกร

อาจเพราะเกษตรกรเป็นผู้ที่มีความเดือดร้อนอยู่เสมอ ไม่ว่าจากภัยแล้ง อุทกภัย ไปจนถึงผลกระทบทางการเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนนโยบาย

ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารมาจนถึงการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโควิด-19 เสียงจากเกษตรกรที่เคยร้องเรียนความเดือดร้อน หรือการร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐด้านราคาผลผลิตที่ต้องแข่งขันบนเวทีการค้าระหว่างประเทศเงียบหายไปมาก จนไม่แน่ชัดว่าความเดือดร้อนที่แท้จริงเป็นอย่างไร

โดยเฉพาะสถานการณ์ขณะนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลสำรวจและประเมินผล หลังจากปล่อยแผนช่วยเหลือต่างๆ ออกมาแล้ว

ข้อมูลทางราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่งสรุปผลการโอนเงินเยียวยาเกษตรกรราว 7.48 ล้านราย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง 24 กรกฎาคม เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1.1 แสนล้านบาท จากงบรวม 1.5 แสนล้านบาท
ทั้งระบุว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพิ่มเงินสดในมือให้เกษตรกรได้เกือบ 1.7 แสนล้านบาท ผ่านโครงการลดรายจ่าย 5.6 หมื่นล้านบาท และลดภาระด้านหนี้สิน 5.3 หมื่นล้านบาท
สหกรณ์มีหนี้ 1.5 ล้านล้านบาท ลดภาระหนี้แล้ว 5.3 หมื่นล้านบาท กองทุนสปก.มีมูลหนี้ 453 ล้านบาท ลดภาระหนี้แล้ว 25 ล้านบาท การยางแห่งประเทศไทย มีหนี้ 716 ล้านบาท ลดภาระหนี้ 14 ล้านบาท

ตัวเลขต่างๆ นี้สะท้อนว่าจำนวนเงินช่วยเหลือมีมากก็จริง แต่ความเดือดร้อนที่เป็นหนี้สินนั้นมีอยู่สูงมากจนยากแก่คาดเดาว่าความช่วยเหลือได้ยรรเทาปัญหาลงได้มากน้อยเพียงใด

อีกตัวเลขหนึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิเยียวยา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.) รายละ 15,000 บาท แต่ธ.ก.ส. ยังโอนเงินให้ไม่ได้ มีถึง 120,000 ราย
กระทรวงเกษตรฯ ใช้วิธีลงพื้นที่ประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อติดตามตัว เบื้องต้นพบผู้ได้รับสิทธิแล้ว 7,000-8,000 คน ตัวเลขนี้บ่งบอกว่ารัฐมีหน้าที่ต้องตามหาคนได้รับสิทธิอีกนับแสนเพื่อให้ได้เงินส่วนนี้ไป
ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ มีกำหนดจะปิดบัญชีเงินเยียวยานี้ภายในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะเหลือเงิน 3 หมื่นล้านบาทที่จะนำไปใช้ในโครงการอื่นๆ
การเคลียร์จำนวนเงิน-จำนวนคน ประเมินได้ด้วยตัวเลขทางบัญชี แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นเรื่องที่รัฐต้องประเมินด้วยการสำรวจและรับฟัง

เพื่อจะได้รู้ว่าความช่วยเหลือเหล่านี้ช่วยได้มากน้อยเพียงใด ก่อนจะเริ่มโครงการใหม่ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน