FootNote:คำถามคมเข้มต่อประชาธิปัตย์ คำถามถึงรัฐธรรมนูญและท่าที

พรรคประชาธิปัตย์ “ลงทุน” ในทางการเมืองสูงยิ่งกับการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและร่วมขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

รูปธรรมอันเด่นชัดหนึ่งก็คือ การต้องสูญเสียหัวหน้าพรรคที่ชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไป

เพราะพลันที่พรรคประชาธิปัตย์ในยุคของ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ลงมติที่จะเข้าร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปแล้วก็ลาออกจากสมาชิกภาพแห่งส.ส.

แม้ว่าในการเข้าร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะกำหนดเงื่อนไข 1 ใน 3 ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับเงื่อนไข

โดยตราเอาไว้ให้เป็นนโยบาย”เร่งด่วน”ของรัฐบาลที่จะทำให้ได้ภายใน 1 ปี

คำถามก็คือเวลา 1 ปีที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้อะไร

นี่ย่อมเป็นพันธกิจ นี่ย่อมเป็นความรับผิดชอบที่พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องแบกรับ

พันธกิจนี้มิได้หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์จะปล่อยให้ผ่านเลยไปในแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ เพราะวิถีแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็น ปมให้กับพรรคประชาธิปัตย์โดยอัตโนมัติ

โดยเฉพาะในเมื่อเกิดกระแสกดดันอย่างเป็นระบบและอย่างต่อ เนื่องมาจาก”เยาวชนปลดแอก”

สายตาย่อมจ้องมองไปยังพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นพิเศษ

คำถามย่อมตามไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา วิธีการและหลักเกณฑ์ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของสภาผู้แทนราษฎรว่ามีความคืบหน้าแค่ไหนเพียงใด

พรรคภูมิใจไทยอาจทำเฉยๆได้ พรรคชาติไทยพัฒนาอาจทำเฉยๆได้

แต่กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นสถาบันในทางการเมืองจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้อย่างเด็ดขาด

เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการ”ประชาธิปไตยวิปริต”หากปรารถนาจะเห็น”ประชาธิปไตยสุจริต”

นับจาก”เยาวชนปลดแอก”เริ่มสำแดงพลังในตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม และประกาศดีเดย์อีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม

ไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกตั้งคำถาม

หากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ถูกตั้งคำถาม

แต่จำนวนนี้คำถามต่อพรรคประชาธิปัตย์จะหนักแน่นจริงจังยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน