ไม่ต้องครบ 5 ปี – ข้อเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญที่เด่นชัดที่สุดทั้งจากกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหว นักวิชาการ นักการเมือง และสมาชิกพรรคการเมือง คือการแก้ไขที่มาของวุฒิสมาชิก

เพราะมีความชัดเจนอย่างยิ่งว่าสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดไม่เกี่ยวโยงถึงประชาชน แต่มีความเชื่อมต่อกับคณะรัฐประหาร

ท่าทีของส.ว.ชุดปัจจุบันต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว มีทั้งเห็นด้วย เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข และไม่เห็นด้วย

กรณีที่ส.ว.หลายคนไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะการเรียกร้องให้แก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งโดยหัวหน้าคสช. มาเป็นการเลือกบุคคลที่เชื่อมโยงกับประชาชนด้วยระบบและกลไกทางประชาธิปไตย

ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่และเห็นความสำคัญของตนเองย่อมมีความรู้สึกบ้างเป็นเรื่องธรรมดา

เหตุผลหนึ่งจากส.ว.บางคนที่ไม่ต้องการให้รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการทำหน้าที่ติดตามการปฏิรูปประเทศ ตามบทเฉพาะกาลที่ระบุไว้ 5 ปี

แต่เหตุผลดังกล่าวไม่มีระบบจะตรวจสอบว่าประชาชนยอมรับมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาเกิดคำถามถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

หลักการและแนวทางปฏิรูปการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีส่วนร่วม

มิใช่เกิดจากคณะบุคคลที่อุปโลกน์ตนเองว่าเก่งและดีมาจัดการกันเอง ดังที่เคยเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนการรัฐประหารมากกว่าการเลือกตั้ง

หากส.ว.ยังดึงดันที่จะทำตามความต้องการเดิม ก็ยิ่งตอกย้ำถึงเรื่องการสืบทอดอำนาจ

การถกเถียงเรื่องแก้ไขที่มาของส.ว.จากนี้ไป จึงไม่ควรขึ้นอยู่ว่า ส.ว.อยากอยู่ต่อให้ครบวาระหรือไม่

ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าส.ว.มองการเคลื่อนไหวของเยาวชนนิสิตนักศึกษา ว่าอ่อนวัยไร้เดียงสา หรือวูบวาบ

แต่ขึ้นอยู่กับว่าขณะนี้คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างเป็น รูปธรรม ทั้งสะท้อนผ่านตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนฯ และสะท้อนผ่านการแสดงออกทางการเมือง

ไม่จำเป็นต้องเกรงใจว่าส.ว.ต้องอยู่ครบวาระ 5 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน