คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนจากกลุ่มตัวอย่าง 197,029 คน ระหว่างวันที่ 16-21 สิงหาคม 2563 ในประเด็นการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พบว่าร้อยละ 62.84 ระบุเห็นด้วย

สาเหตุที่สนับสนุนให้แก้ไข พบว่าประชาชนมองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นกลาง สืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน และต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่างใหม่

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าอยากให้แก้ไขหมวด ที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาด้วย ที่กำหนด 6 คนเป็นโดยตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญกำหนด และที่เหลือมาจากการคัดเลือกและแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

แม้จะผ่านการทำประชามติมา แต่ก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเห็นข้อบกพร่องเร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “จะมีส.ว.ต่อไปดีไหม?” อันเป็นการสอบถามความเห็นต่อสถานะสมาชิกวุฒิสภาโดยตรง

ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,317 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 61.27 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 16.48 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย

มีเพียงร้อยละ 8.96 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 13.21 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย และ ร้อยละ 0.08 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการเฉพาะนั้น ขณะนี้มีการดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนพรรคฝ่ายค้าน ทำญัตติยื่นต่อประธานรัฐสภาไปแล้ว และกำลังผลักดันให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา

การชุมนุมใหญ่ของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนในวันที่ 19-20 กันยายนนี้ ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องด้วย ซึ่งจะเป็นพลังกดดันให้รัฐบาลและรัฐสภาเร่งดำเนินการโดยเร็ว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็พบว่าส่วนใหญ่ยังสงวนท่าที และมีบางส่วนแสดงชัดเจนว่าพร้อมจะขัดขวาง

แต่ถ้าหากเป็นความต้องการและ ฉันทามติของประชาชนส่วนใหญ่ อะไรก็ต้านทานมิได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน