คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การตอบสนองของภาครัฐต่อการชุมนุมของกลุ่มประชาชนตอกย้ำอีกครั้งว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของการชุมนุม

ไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะบอกว่าการชุมนุมมีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือ มีท่อน้ำเลี้ยงจากใครคนใดคนหนึ่ง

นักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนหลายคนหลายคณะที่เฝ้าจับตาสถานการณ์ พยายามเสนอแนะให้รัฐบาลหาจุดร่วมกับกลุ่มประชาชนเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งหลังการชุมนุม คือ การจับกุมดำเนินคดีผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยข้ออ้างกฎหมายที่รัฐเป็นผู้ถือครองและมีอำนาจใช้

ทำให้ช่องว่างระหว่างรัฐกับผู้ชุมนุมห่างออกไปเรื่อยๆ ความไม่เข้าใจมีมากขึ้น และการเผชิญหน้ามีสูงขึ้น

 

กรณีล่าสุดจากการชุมนุมสุดสัปดาห์วันที่ 19-20 ก.ย. คือการปักหมุดคณะราษฎร 2563 บนพื้นซีเมนต์ของสนามหลวง ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

เมื่อเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันถอดหมุดดังกล่าวออก เรื่องนี้ไม่เหนือความคาดหมายใดๆ เพราะทุกคนรู้ว่าสนามหลวงมีสถานะเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี 2520

แต่เกิดข้อสังเกตว่า การเทพื้นปูนบนพื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามหลวงที่หน่วยงานรัฐเป็นฝ่ายจัดการ ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นมาตรฐานเดียวกับที่ผู้ชุมนุมฝังหมุดสัญลักษณ์หรือไม่

หรือคล้ายกับการลงทุนในโครงการของภาครัฐที่สามารถขจัดอุปสรรคใดๆ ก็ตามที่เอกชนและประชาชนเผชิญอยู่ ด้วยกลไกทางกฎหมายและอำนาจ ทั้งที่ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน

 

นอกจากกรณีหมุด ยังมีคำถามถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานถูกรื้อถอนระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่โดยรอบ กรมศิลปากรยังให้คำตอบไม่ได้ว่าจะนำกลับมาเมื่อใด หรือย้ายไปติดตั้งที่ใด

จนเกิดคำถามว่าภาครัฐใช้มาตรฐานในการดูแลรักษาโบราณสถานดุจเดียวกันหรือไม่

หากยังตอบไม่ได้ หรือไม่ได้ชัดเจน สิ่งนี้จะยังคงเป็นท่อน้ำเลี้ยงความขัดแย้งของคนในสังคมต่อไป

รัฐบาลไม่จำเป็นต้องค้นหาว่าใครอยู่เบื้องหลังการชุมนุม เพียงส่องกระจกดูก็จะรู้เอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน