คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ดีอยู่แล้ว? – คําอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาที่คัดค้านแนวทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. และท่าทีของทายาทเจ้าของโรงแรมหรูชื่อดังที่จังหวัดภูเก็ตตอบโต้กระแสที่ฝ่ายผู้ชุมนุม คว่ำบาตรกิจการของครอบครัว มีลักษณะสอดคล้องกัน

นอกจากแสดงออกในเวลาใกล้เคียงกันแล้ว ยังแสดงแนวคิดที่คล้ายกันต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย ว่าไม่ได้มีความสำคัญเท่าใดนัก

กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช่กลุ่มที่จะมากดดันให้ตั้งส.ส.ร.ได้ และไม่ใช่กลุ่มที่จะไปพักโรงแรมหรูได้

ฉะนั้นการปรับเอาส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกลุ่มรัฐประหารออกย่อมไม่ง่าย และการแบนธุรกิจที่มีลูกค้ากลุ่มอีลิทอาจไม่มีผล

แต่ทั้งสองเรื่องอธิบายได้ว่าอะไร คือแรงผลักดันให้เยาวชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

กระแสเรียกร้องให้โละส.ว.ที่มาจากการ แต่งตั้งทั้ง 250 คน รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2560 เป็นเรื่องตั้งต้นจากหลักการขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย อาศัยเหตุผลเรียบง่าย ไม่มีความซับซ้อนใดๆ

กล่าวคือส.ว.ไม่ได้เกี่ยวโยงใดๆ กับประชาชน มาจากการแต่งตั้งและมอบอำนาจจากหัวหน้าคสช. ช่วงที่ประเทศยังอยู่ในห้วงรัฐประหาร

รัฐธรรมนูญ 2560 ก็เช่นเดียวกัน แม้ผ่าน ขั้นตอนประชามติแต่ก็อยู่ในห้วงรัฐประหาร เช่นกัน สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงติดขัดตั้งแต่ต้น

เมื่อบังคับใช้แล้วจึงเห็นได้ว่ามีความขัดข้อง มีข้อครหา และไม่สง่างามทางประชาธิปไตย

การอภิปรายของส.ว.ที่จะไม่ให้ตั้งส.ส.ร. สำหรับการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยข้ออ้างว่าฉบับที่ใช้อยู่นี้ดีอยู่แล้ว จึงไม่เป็นเหตุเป็นผล

เพราะคำว่า ‘ดีอยู่แล้ว’ ดังกล่าวไม่แน่ชัดว่า ดีกับใคร ดีกับกลุ่มใด

ดีอยู่แล้วกับคนที่ปลุกปั้นวาทกรรมเผด็จการรัฐสภา และกลับเห็นดีเห็นงามกับเผด็จการทหารหรือไม่

เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้ร่างโดยตัวแทนประชาชน มิได้ผ่านการต่อรองของคนส่วนใหญ่ แต่ชัดเจนว่าขบคิดสร้างกติกากันในกลุ่มอีลิตทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน