FootNote : รอยร้าวใน พรรคร่วมรัฐบาล ต่อบทบาทของ พลังประชารัฐ

กระบวนท่าซื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐโดยการเสนอให้จัดตั้ง “กรรมาธิการ” เพื่อศึกษาอาจทำให้เวลาในการ ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญทอดเวลาไปอีก 45 วัน
แต่ก็ได้เกิดคำถามในทางการเมืองตามมาเป็นจำนวนมากมาย หลายคำถาม
เพราะในที่สุดแล้วปฏิบัติการครั้งนี้ของพรรคพลังประชารัฐมิได้ เป็นการปฏิเสธร่างอีก 5 ฉบับที่เสนอเข้ามาโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านเท่านั้น หากแต่ยังเท่ากับเป็นการปฏิเสธร่างของตนเอง
เพราะว่า 1 ร่างเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอเข้าไปโดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นกองหน้า และแวดล้อมโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา
ปมเงื่อนอันแหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา มีความรู้สึกอย่างไรต่อท่าทีที่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของพรรคพลังประชารัฐ
ไม่จำเป็นต้องรอถึง 45 วันที่จะมีการพิจารณาญัตตินี้อีกครั้งในที่ประชุมรัฐสภาก็พอมองได้ออก

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนา ล้วนมีความหงุดหงิด ไม่พอใจต่อท่าทีอันกลับไปกลับมาของพรรคพลังประชารัฐ
อย่างน้อยประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็น “เงื่อนไข” สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนเข้าร่วมรัฐบาล
อย่างน้อยพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ก็เคยมีความมั่นใจว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐบาลที่เสนอให้เปิดประตูผ่านมาตรา 256 จะเป็นแต้มต่อหนึ่งในทางการเมือง
เท่ากับเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญในการสยบการเคลื่อนไหวของ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ซึ่งกำลังกลายเป็นกระแสสูงในทางการเมืองให้จางคลายลงเป็นลำดับ
ทั้งยังสามารถช่วงชิงประโยชน์ได้ในระหว่างการแก้ไข
แต่แล้วกระบวนท่าของพรรคพลังประชารัฐที่ไปสมคบกับ 250 ส.ว.ก็ทำให้ความหวังนี้มลายลงไป

พรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.อาจคิดว่าไม้นี้ของพวกตนจะเป็นการตีกลับกระแสของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ขณะเดียวกัน ก็อาศัย เวลา 45 วันนี้ไปลดทอนบทบาทและความหมาย
แต่จากมุมของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทย อาจไม่เป็นไปตามที่พรรคพลังประชารัฐคาดเอาไว้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน