คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กว่าจะเป็น 6 ตุลา – ครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ใน พ.ศ.2563 มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่โดดเด่นจนเป็นข้อเปรียบเทียบกัน

เมื่อนักเรียนนักศึกษาก้าวขึ้นมาเป็นแกนหลักของการประท้วงโครงสร้างทางสังคม การเมือง การศึกษา และเศรษฐกิจที่มีปัญหา

คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อ 44 ปีที่มีเหตุการณ์จากความไม่ชอบธรรม ไม่ชอบมาพากล และไม่ชอบด้วยเหตุผลหลายๆ เรื่อง

ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนถึงวันที่ 6 ต.ค. และบาดแผลหลังจากนั้น

บทเรียนดังกล่าวชัดเจนขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาค้นคว้าศึกษาเหตุการณ์ที่ไม่ปรากฏในแบบเรียน

6 ตุลา 2519 เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่น่าสะเทือนขวัญ ไม่เฉพาะกับสังคมไทย

ยังมีบันทึกภาพข่าวที่น่าตกตะลึงระดับโลก แสดงถึงความโหดเหี้ยมในการล้อมปราม ผู้ชุมนุม และสะท้อนถึงการปลุกระดมความเกลียดชังของฝ่ายมีอำนาจให้คนทำร้ายกันเองจนล้ำเส้นความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีเมตตาและความเห็นอกเห็นใจกัน








Advertisement

ข้อมูลทั้งภาพและรายละเอียดต่างๆ เป็นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้คำตอบว่าอะไรทำให้สังคมไทยเดินไปถึงจุดที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาได้

การชุมนุมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงรัฐธรรมนูญของคนรุ่นปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมีเป้าหมายให้สังคมไม่เดินกลับไปยังจุดที่ชักจูงให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาอีก

บทเรียนที่ตกค้างมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคือการไม่ทนกับสภาพที่ฝ่ายมีอำนาจจะตัดสินใจดำเนินการเรื่องใดๆ โดยไม่แยแสต่อความรู้สึกของประชาชนอีก

ปมเหตุสำคัญของ 6 ตุลา 19 เริ่มตั้งเค้ามาจากคณะรัฐมนตรีประชุมพิจารณาคำขอของอดีตผู้นำที่เคยสั่งการใช้กำลังทหารปราบปรามนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เดินทางเข้าประเทศ

จากนั้นเกิดเหตุฆาตกรรมพนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 คนที่ออกติดโปสเตอร์การประท้วงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมกับการปลุกระดมสร้างภาพให้นักศึกษาเป็นผู้หวังร้ายต่อสถาบันจนนำไปสู่ความรุนแรงที่ร้ายแรง

ณ วันนี้การปลุกระดมสร้างภาพลักษณะนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแต่ยากที่จะทำสำเร็จเพราะองค์ประกอบทางสังคมเปลี่ยนไป

กว่าจะมาเป็น 6 ตุลาในวันนี้คนจำนวนมากในสังคมเรียนรู้มาไม่น้อยแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน