44ปี6ตุลา : ประชาธิปไตยที่แปรผัน

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเวทีอภิปรายสาธารณะ PRIDI Talks ครั้งที่ 6 เนื่องในวาระครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ในหัวข้อ ‘จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ : ชาติ ความเป็นไทยและประชาธิปไตยที่แปรผัน’

อนุสรณ์ ธรรมใจ

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดีพนมยงค์

การปล่อยให้เกิดวาทกรรมเพื่อป้ายสีให้เกิดความเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นหนักแผ่นดิน ขายชาติ ชังชาติ ล้วนทำให้เกิดผลตามมามากมาย กระทั่งกลายเป็นความรุนแรงและนองเลือด

สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงจากขบวนการหนุ่มสาวประชาธิปไตย ซึ่งเต็มไปด้วยความปรารถนาดีที่อยากเห็นสังคมอุดมคติ อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพที่ปราศจากการคุกคาม เป็นการเคลื่อนไหวที่มีอยู่ทั่วโลกที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบการปกครองแบบไหนถ้าผู้นำคิดแต่จะแสวงหาอำนาจโดยไม่สนใจวิธีการ ทรรัฐย่อมเกิดขึ้นได้ ทำให้ทหารที่ออกมาเข่นฆ่าประชาชนกลายเป็นฆาตกร ทั้งที่ผู้นำที่ดีจะมองการเรียกร้องประชาธิปไตย การเห็นต่างเป็นเรื่องสวยงาม และ เดินหน้าเจรจาหารือ

ทางออกของประเทศไทยทางเดียวคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานของสันติธรรมประเทศไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข หลายประเทศที่เคยเกิดความรุนแรง สามารถจบลงด้วยความสงบและประเทศ พัฒนาได้

แม้การต่อสู้กับอำนาจการกดขี่อาจต้องใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตพร้อมกับการเสียสละ แต่อย่าหวาดกลัวในการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อพิทักษ์ สันติธรรม เช่นเดียวกับขบวนการเสรีไทย คณะราษฎร วีรชน 14 ตุลา 6 ตุลาและพฤษภา 35

จากนี้เราเรียนรู้ที่จะสู้อย่างสันติเพื่อเอาชนะพลังแห่งความ เกลียดชัง และการทำร้ายป้ายสี สู่การแก้รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน

ธีรชัย ระวิวัฒน์

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

วาทกรรมชังชาติเป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจไปเอง ว่าตัวเองเป็นคนรักชาติ และผลักไสไล่ส่งคนที่คิดต่าง คนเราจะชิงชังสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ว่าจะชิงชังอย่างไร้เหตุผล แต่ต้องมีสิ่งที่น่าเกลียด น่าชังในชาติ ซึ่งคำว่าชาติ ไม่ได้หมายถึงเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แต่หมายถึงสังคมที่เราจะต้องอยู่ร่วมกัน

ผู้ใหญ่บอกเด็กพวกนี้โดนหลอก พูดแบบนั้นก็คงใช่ เพราะพวกเราโดนหลอกว่าประเทศไทยดีที่สุด ใครๆ ก็อยากมาอยู่เมืองไทย แต่พอเติบโตมาดูโลกพบว่าเป็นคำโกหกคำโต เช่น พอถึงเวลาเข้าเกณฑ์พวกตนก็ถูกหลอกว่าเกณฑ์ทหารคือการ รับใช้ชาติ รับใช้โดยไปสู้กับหญ้า ฆ่ากับมด

พวกตนถูกหลอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ผู้มีอำนาจทำอะไรไม่เคยเห็นหัวประชาชน พวกตนถูกหลอกมาตลอด ดังนั้น ถ้าคำว่าชาติคือ สังคมที่เป็นแบบนี้ใครบ้างจะไม่ ชังชาติ

สิ่งที่น่าชังยิ่งกว่าคือ มีคนบางกลุ่มที่มองว่าประเทศมีปัญหาอยู่ แต่ทำเป็นไม่สนใจ สนใจแต่จะอวยตัวเอง อวยชาติตัวเอง แล้วก็ตราหน้าด่าคนอื่นว่าหนักแผ่นดินเป็นพวกชังชาติ

เรามีบทเรียนของการสร้างวาทกรรมแบบนี้มาแล้ว คนที่ถูกตราหน้าว่าหนักแผ่นดินถูกล้อมฆ่าอย่างชอบธรรม ท่านอยากให้จบแบบนั้นอีกหรือถึงได้สร้างวาทกรรมขึ้นมาใส่ร้าย และไม่ว่าท่านจะเข้าใจว่าพวกตนเป็นพวกชังชาติหรือรักชาติ แต่สุดท้ายเราทั้งหมดคือคนร่วมชาติ ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ความแตกต่างทางความคิดคือเสน่ห์

ดังนั้น ควรลดทิฐิหันไปมองประตูที่พังหน้าต่างที่เสีย เพื่อช่วยกันแก้ไข เราไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำลายหรือล้อมฆ่ากัน

เรามาช่วยกันให้สังคมมีความน่าชังลดลงได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นชาตินี้สังคมนี้จะไม่มีคนหนักแผ่นดินหรือคนชังชาติ อีกต่อไป

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

ผู้สื่อข่าวอาวุโส

ตนอยู่ในยุคที่ถูกเรียกว่าหนักแผ่นดิน จนกระทั่งวันนี้มาสู่คำว่าชังชาติ ซึ่งยุคหนักแผ่นดินนั้นเป็นคำชี้หน้านักศึกษาที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรมและเท่าเทียม เหมือนกับที่เยาวชนคนรุ่นใหม่กำลังเรียกร้องอยู่ขณะนี้ ซึ่งถูกตราหน้าว่าขายชาติ สมคบคิดกับต่างชาติและนำไปสู่ความชอบธรรมในการสังหารหมู่ และใช้มาเรื่อยๆ ในการปราบปรามประชาชนที่เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ปัจจุบันเยาวชนต่างพัฒนาและเข้าใจในความหมายของ คำว่าชาติและระบอบความเป็นไปในการปกครองมากขึ้น

ขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจยังใช้วิธีการเดิมใส่ร้ายประชาชน อ้างคำว่าประชาธิปไตยเพื่อยืนยันว่าเป็นชาติที่มีอารยธรรม ปั้นประดิษฐ์คำขึ้นมาทำร้ายคนที่คิดไม่เหมือนพวกตัวเอง

เราเห็นแล้วว่าประเทศกำลังพายเรืออยู่ในอ่าง เผด็จการจารีตไม่เคยพัฒนาความคิดหรือวิธีการในการจัดการคนที่คิดต่าง หรือปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องทันสมัยกับโลก คุณไม่มีสิทธิ์บังคับใครให้ดูหนังม้วนเก่า ไม่มีสิทธิ์บังคับใครให้นั่งพายเรืออยู่ในอ่างใบเดิม หรือเอากะลามาครอบใคร

วัยหนุ่มสาวมีทั้งสติปัญญา ความกล้าหาญ และเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเองและโลก

ขอให้กำลังใจสนับสนุนเยาวชนที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ที่ปรึกษามูลนิธิปรีดีพนมยงค์

วันนี้เป็นวันรำลึกอดีตที่ทั้งน่าชังและลืมไม่ลง

ในฐานะที่ตนอยู่ในวันมหาวิปโยคดังกล่าว 6 ตุลานับเป็นวันฆ่าสังหารหมู่ เป็นเหตุการณ์ที่รัฐใช้กำลังกับประชาชนด้วยอาวุธหนักที่น่าหวั่นวิตก เปลี่ยนจิตใจในความรักชาติไปสู่ความรังเกียจเดียดฉันท์ ขัดแย้ง และนำไปสู่การหยุดยั้งการพัฒนาบ้านเมือง

เป็นพฤติกรรมโดยผู้กุมอำนาจรัฐที่กระทำตรงข้ามกับเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่ประชาชนเรียกร้อง และนับเป็นสงครามกลางเมืองที่ประชาชนสู้รบกับผู้มีอำนาจมาอย่างยืดยาวมาร่วมเกือบร้อยปี

เป็นการต่อสู้ทางการเมืองของระบอบใหม่กับระบอบเก่า ซึ่งคำถามคือมันจะจบลงได้จริงหรือ

งานรำลึกในวันนี้ คนรุ่น 6 ตุลา กำลังบอกเราว่า เขาและเธอไม่ใช่คนหนักแผ่นดิน ไม่ใช่คนไม่รักชาติ

พวกเขาต้องการชาติที่ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน มีเพศสภาพใด มีผิวพรรณใด จะยากหรือจะจน มีสิทธิ์มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

เราจัดเวทีนี้ขึ้นเพื่อแสวงหาและรำลึกถึงตัวตนของพวกเขาและคนอื่นๆ รุ่นต่อไป

เพื่อเดินทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

วันที่ตนท้อแท้สิ้นหวังกับการเมืองไทยมากที่สุด คือ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สร้างเกณฑ์สืบทอดอำนาจโดยการออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้

หลังจากนั้น ตนคิดว่ายังอยากต่อสู้ สร้างความเปลี่ยนแปลง จึงเริ่มต้นใหม่โดยใช้เวลา 4 ปีกว่าๆ ที่พวกเราไอลอว์เริ่มจับตา และศึกษากระบวนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 พวกเราได้ริเริ่มกิจกรรมเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาเพียง 43 วัน สามารถนำ 1 แสนกว่ารายชื่อ ไปยื่นต่อสภาเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

หลังจากกิจกรรมนี้เกิดขึ้นทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงแล้ว พบว่ามีคนพร้อมช่วยสนับสนุนมากขนาดไหน ถ้า 4 ปีที่แล้ว เราท้อแท้สิ้นหวังเลิกที่จะเชื่อคนรอบตัว เลิกที่จะเชื่อคนที่เราไม่รู้จัก เราจะไม่มีวันนี้

วันนี้มาถึงเร็ว ง่าย และสวยงาม สิ่งที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นแล้ว เพราะเหตุนี้จึงต้องมีความหวัง อยู่เสมอ และต้องรักษาความเชื่อไว้เพื่อเดินต่อไปข้างหน้า

วันนี้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว อาจมีเรื่องน่าเศร้าเจ็บปวด แม้ว่าตนจะเกิดไม่ทัน แต่สำหรับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ วันนี้ในอดีตอาจจะเป็นวันที่ท้อแท้สิ้นหวังที่สุดในการเมืองไทย แต่ปัจจุบันบริบททางการเมืองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเปลี่ยนแปลงขนาดนี้แล้วจะย้อนกลับไม่ได้

คนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา กำลังเรียนรู้เบ่งบาน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย เมื่อมีแรงกดขี่มากเท่าไหร่ แรงต่อต้านก็จะมีพลังมากขึ้นเท่านั้น

วันนี้จึงเป็นวันที่การเมืองมีความความหวังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่การต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นอาจจะอีกยาว ไม่เสร็จในเร็ววัน

เราต้องมีความหวัง เพื่อที่จะได้เห็นอะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นด้วยกัน

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นิทานก่อนนอนในวัยเด็กคือหนังสือพิมพ์ 6 ตุลา การสังหารหมู่เป็นภาพจำในวัยเด็กผ่านเรื่องเล่าจากพ่อ

ช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมาตนไปหลายพื้นที่เพื่อพูดคุยกับคนหนุ่มสาวหลายคนว่าคิดอะไร ทำไมต้องไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุม ก่อนจะวิจารณ์เขาว่าชังชาติ เราต้องเข้าใจเขาก่อน

การถกเถียงกันไม่ใช่ช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างคนสองรุ่น หรือคนสองช่วงเวลาของสังคมไทย แต่คือความขัดแย้งทางความคิดของคนสองกลุ่มในสังคมที่แท้จริง คือ ความคิดที่ แตกต่างกันผ่านชุดประสบการณ์ บรรยากาศแวดล้อมที่แตกต่างกัน นี่อาจจะเป็นสงครามการเมืองระยะยาว 100 ปี

นับตั้งแต่กบฏบวรเดชเป็นต้นมา พลัง 2 ขั้วต่อสู้กันมาตลอด 80 กว่าปี คือ 1.ประณามฝ่ายตรงข้าม 2.ลดทอนความชอบธรรมของอีกฝ่าย 3.สร้างความชอบธรรมให้ ตัวเอง และ 4.ขจัดฝ่ายตรงข้ามออกจากสังคม

6 ตุลา เป็นหนึ่งตัวอย่างของการต่อสู้ทางความคิดของทั้งสองฝ่าย สืบเนื่องมาจนถึงรัฐประหารปี 2557 ที่ฝ่ายชนชั้นนำพยายามทำให้เกิดชัยชนะอย่างถาวรโดยการเขียนรัฐธรรมนูญและอื่นๆ แต่ไม่จบ เพราะพลังใหม่ที่ไม่พอใจต่อการสร้างชัยชนะถาวรของชนชั้นนำก่อตัวขึ้น

การข่มขู่คุกคาม ลดทอนความชอบธรรม ประณามหรือเพิกเฉย ไม่ได้ผลกับคนรุ่นนี้ เขามีความกลัว แต่ยืนยันไม่เลิกชุมนุม เพราะคือเดิมพันชีวิตอีก 60 ปีข้างหน้า

วันนี้สังคมไทยมาถึงทางแพร่งของความขัดแย้งโดยสมบูรณ์ เป็นความขัดแย้งที่คนในสังคมทุกกลุ่มตื่นรู้ทางการเมือง ความพยายามให้เวลาไปเยียวยาแก้ไขให้เด็กเปลี่ยนความคิดไปเองนั้น ครั้งนี้ไม่เหมือนอีกเดิมแล้ว

โดยกลุ่มคนที่มีความคิดแบบสงครามเย็นไม่ว่าทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา กับเด็กโบขาว ไม่ว่าอย่างไรทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยการข่มขู่ คุกคาม หรือไล่ออกนอกประเทศ และคนทั้ง 2 กลุ่มนี้มีบทบาทในการสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงเท่าๆ กัน แต่คนรุ่นสงครามเย็นเป็นผู้คุมอำนาจในสภา และกองทัพ

ถึงอย่างไรการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นจากพวกเขา แต่ทำอย่างไรจึงจะสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ ซึ่งจะทำได้ ถ้าคนทั้ง 2 กลุ่มยอมรับว่านี่คือทางแพ่งที่เรา หลีกเลี่ยง ไม่ได้ แม้จะยากแต่หลีกหนีไม่ได้แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน