FootNote:ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ เบื้องหน้าการเมืองมิติใหม่

ต้องยอมรับว่าการมาของมวลชนในสถานการณ์ตลอดทั้งวันที่ 14 ตุลาคม จากการนัดหมายของ”คณะราษฎร 2563″ โดยมีจุดเริ่ม ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ดำเนินไปอย่างเหนือความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นข่าวกรองระดับสภาความมั่นคงแห่งชาติและบรรดาเกจิทางการเมืองทั้งปวง

สรุปตามสำนวนนักเลงการพนันก็ต้องว่า “หักปากกาเซียน”

แม้ในตอนรุ่งสางของวันที่ 15 ตุลาคม แกนนำอย่าง นายอานนท์ นำพา อย่าง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ อย่าง นายภาณุพงศ์ จาดนอก จะถูกรวบตัว

เหมือนกับ ไผ่ ดาวดิน และ เอมมี่ บอททอมบลูส์ ที่ล่วงหน้าไปก่อนในวันที่ 13 ตุลาคม

แต่ถ้าหากมองในแง่ “เป้าหมาย” อัน”คณะราษฎร 2563″กำ หนดวางเอาไว้ ไม่ว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าหน้าทำเนียบรัฐบาล ก็ถือได้ว่าบรรลุอย่างครบถ้วน

คำถามก็คือ เหตุปัจจัยอันใดทำให้จำนวนการเข้าร่วมจึงคึกคัก หนักแน่น ไม่แปรเปลี่ยน

ต้องยอมรับว่า บรรดานักการข่าวและเกจิทางการเมืองไปให้น้ำหนักกับภาพของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ณ ศิริราชพยาบาล ในวันที่ 24 กันยายน มากเกินความเป็นจริง

มองว่าภาพนั้นเป็นสัญญาณส่งไปยังพรรคเพื่อไทย และส่งไปยังเครือข่ายของ”คนเสื้อแดง”

บทสรุปที่ว่าเมื่อ”คนเสื้อแดง”ได้รับสัญญาณจากพรรคเพื่อไทย นั่นหมายถึงการลดปริมาณลงเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อประสานกับการออกมาปรามของแกนนำนปช.บางคน ก็ยิ่งทำให้เชื่อ

การมองไปยังการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงมักจะคาดหมายด้วยความเชื่อว่าม็อบมีแต่จะฝ่อและลดลง กระทั่งไม่น่าจะถึงหมื่นด้วยซ้ำ

ต่อเมื่อภาพความเป็นจริงปรากฏนั่นแหละจึงต้องถอนหายใจ

และนั่นเองทำให้จำเป็นต้องงัดมาตรการเข้มในด้าน”สถานการณ์ฉุกเฉิน”ออกมาในเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม

พลันที่มีการประกาศ”สถานการณ์ฉุกเฉิน”ทำให้ข้อเรียกร้องในประเด็นอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ตกเป็นเรื่องรองขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

เป็นความอัตโนมัติตามความเคยชินอย่างที่เคยพบเห็นมา

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงสถานการณ์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ใหม่ เป็นมิติใหม่ในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน